Tuesday, June 21, 2011

ปาฐกถาของพลเอกสุฮารโต เรื่อง “ประชาธิปไตยแบบปัญจะศีล”

เอกสารชิ้นนี้คือปาฐกถาที่มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีสุฮารโตต่อสภาที่ปรึกษาประชาชนชั่วคราวเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1967 ก่อนถึงวันครบรอบการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย โดยในขณะนั้นพลเอกสุฮารโตกำลังดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี

เป้าหมายของ “ยุคระเบียบใหม่” คือ ทำให้การนำหลักปัญจศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 ไปปฏิบัติเป็นไปด้วยความมั่นคงและบริสุทธิ์ ประชาชนอินโดนีเซียทุกคน องค์กรทุกองค์กร การประกอบการธุรกิจทุกประเภท ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุคระเบียบใหม่จะต้องยอมรับรากฐานสองประการคือ หลักปัญจศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 อีกทั้งไม่ใช่เพียงแค่ยอมรับเท่านั้น หากจะต้องนำไปปรับใช้และทำให้ปรากฏเป็นจริงในรูปแบบอันถูกต้อง เที่ยงตรงและบริสุทธิ์เท่าที่จะกระทำได้โดยสอดคล้องกับจิตวิญญาณและพลังอันเข้มแข็งของมัน

ดังนั้นยุคระเบียบใหม่จึงมิได้เป็นอะไรน้อยไปกว่าระบบชีวิตทั้งหมดของประชาชน ชาติ และประเทศที่ได้เดินกลับไปสู่การนำหลักปัญจศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 มาปฏิบัติใช้อย่างบริสุทธิ์ เราขอเน้นย้ำคำว่า “เดินกลับไปสู่” เนื่องจากยุคระเบียบใหม่ถือกำเนิดและเติบโตขึ้นในฐานะปฏิกิริยาต่อและการแก้ไขรูปแบบอันเบี่ยงเบนและการคอรัปชั่นทุกชนิดประเภทที่เคยดำเนินไปโดยสิ่งที่รู้จักกันในฐานะที่เป็นยุคระเบียบเก่าให้กลับมาถูกต้องทั้งหมด

การบิดเบือนหลักการปัญจศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 ในช่วงยุคระเบียบเก่าได้ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาลึกซึ้งและกว้างขวาง ทั้งในความเป็นจริงแล้ว ยังได้ทำลายเลือดชีวิตของชาติและประเทศ

หลักปัญจศีลถูกบิดเบือนด้วยการถือกำเนิดของหลัก Nasakom [ความเอกภาพของลัทธิชาตินิยม ศาสนาอิสลาม และลัทธิคอมมิวนิสม์] อันเป็นแนวคิดที่พยายามรวมเอาลัทธิคอมมิวนิสม์เข้ามาปฏิบัติร่วมกับหลักปัญจศีล ลัทธิคอมมิวนิสม์ซึ่งวางอยู่บนวิธีคิดแบบวัตถุนิยมวิวาทวิธี (dialectical materialism) นั้นแท้จริงแล้วต่อต้านพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่หลักปัญจศีลประกาศถึงความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าอันยิ่งใหญ่ ศาสนาจึงถูกนำมาบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

หลักการแห่งความยุติธรรมและมนุษยชาติที่เจริญแล้วถูกเพิกเฉย สิทธิมนุษยชนทั้งมวลมลายหายไป เนื่องจากทุกอย่างถูกกำหนดตัดสินใจโดยเจตจำนงของผู้ปกครองเท่านั้น การประกันคุ้มครองและการปกป้องทางกฎหมายไม่อาจปรากฏได้ในทางปฏิบัติ สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจาก ไม่ว่าเราจะสำนึกหรือไม่ก็ตาม พวกเราตกเป็นเหยื่อในยุทธศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ซึ่งยอมรับหลักการปัญจศีลเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการยึดครองอำนาจภายในกรอบของลัทธิคอมมิวนิสม์สากล

หลักการของความเป็นชาติและเอกภาพได้ถูกทำให้เจือจางลงเนื่องจากมีบางกลุ่มจงรักภักดีต่ออุดมการณ์อย่างอื่น พลังเข้มแข็งของเอกภาพถูกสั่นคลอนไปเนื่องจากลัทธิคำสอนเรื่องหลักความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้น

ทั้งหมดนี้ย่อมให้พื้นที่แก่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) ใช้ในการสร้างความนิยมให้แก่ตนเอง ราวกับว่าเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวและเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนที่แท้จริง

ประชาชาติอินโดนีเซียไม่ได้รับรอง/รู้เรื่องชนชั้น เพราะจากเราไม่ได้และจะไม่มีทางแบ่งแยกกันด้วยชนชั้น

หลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนถูกทำให้คลุมเครือ สิ่งที่ดำรงอยู่คือ “อำนาจอธิปไตย” ของผู้นำ

หลักการเรื่องความยุติธรรมทางสังคมก็ยิ่งถูกทำให้มีความสำคัญน้อยลง เนื่องจากความมั่งคั่งของชาติถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและเพื่อโครงการอันทรงเกียรติที่ทำลายเศรษฐกิจของประชาชนและประชาชาติ ระบบของ “เศรษฐกิจแบบชี้” (guided economy) โดยปฏิบัติแล้วได้กลายเป็น “ระบบใบอนุญาต” (system of licenses) ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้คนเพียงหยิบมือหนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ถือครองอำนาจ

การบิดเบือนรัฐธรรมนูญปี ค.ศ.1945 อย่างร้ายแรงนั้นคือการหยิบยื่นอำนาจอย่างไร้ข้อจำกัดให้อยู่ในมือของคนเพียงคนเดียว คือประมุขของรัฐ หลักการและรากฐานของการเป็นรัฐที่ปกครองด้วยระบอบรัฐธรรมนูญค่อยๆ ถูกละทิ้งไว้เบื้องหลัง จนกระทั่งในท้ายที่สุดเราได้กลายเป็นประชาชาติที่ตั้งอยู่บนอำนาจ หลักการและรากฐานของระบบรัฐธรรมนูญจึงได้กลายเป็นระบบเผด็จอำนาจเบ็ดเสร็จโดยธรรมชาติ อำนาจสูงสุดของรัฐจึงไม่ได้อยู่ในมือของสภาที่ปรึกษาประชาชนชั่วคราว (MPRS) แต่กลับอยู่ในมือของท่านผู้นำที่ยิ่งใหญ่แห่งการปฏิวัติ ประธานาธิบดีจึงไม่ได้ยอมตนต่อสภาที่ปรึกษาประชาชนชั่วคราว ในทางตรงกันข้ามสภาที่ปรึกษาประชาชนชั่วคราวต่างหากที่จะต้องยอมตนต่อประธานาธิบดี

แท้จริงแล้ว นับเป็นโศกนาฏกรรมของประชาชนและประชาชาติอินโดนีเซียเมื่อพวกเขาให้การสนับสนุน “คำสั่งให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญ ปี ค.ศ.1945” เมื่อปี ค.ศ.1959 โดยเต็มไปด้วยความหวัง ซึ่งกลับทำให้ผลักไสประชาชาติเข้าไปสู่ความเจ็บปวดทั้งภายนอกและภายใน อันบรรลุถึงจุดแตกปะทุในการลุกฮือของขบวนการเคลื่อนไหวพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเมื่อวันที่ 30 กันยายน....

ประชาธิปไตยซึ่งเราธำรงชีพอยู่ได้คือประชาธิปไตยแบบปัญจะศีล (Pancasila democracy) ซึ่งขนบและกฎหมายพื้นฐานได้ถูกกำหนดวางไว้ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 ประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลหมายถึง “ประชาธิปไตย” อันคือหลักการในเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนซึ่งได้รับแรงบันดาลใจโดยและบูรณาการเข้ากับหลักการปัญจะศีลข้ออื่นๆ สิ่งนี้หมายความว่า ในการใช้สิทธิประชาธิปไตยของเรานั้น เราจะต้องธำรงรักษาสำนึกรับผิดชอบต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าตามหลักการศาสนาที่เรายึดถือ ให้คุณค่าอย่างสูงต่อความเป็นมนุษย์ตามหลักคุณค่าและเกียรติศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างความเข้มแข็งและรับประกันต่อความเป็นเอกภาพของชาติ และให้โอกาสแก่การบรรลุถึงความยุติธรรมทางสังคม ระบอบประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลที่ว่านี้มีรากกำเนิดจากการตระหนักถึงคุณค่าของครอบครัวและความร่วมมือแก่กันและกัน

เนื่องจากรากกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลนั้นสามารถพบได้ในคุณค่าของครอบครัวและความร่วมมือแก่กันและกัน แต่หาได้ยอมรับในเรื่องอำนาจสมบูรณ์เบ็ดเสร็จของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอันเนื่องจากความเข้มแข็งทางสรีระ อำนาจทางเศรษฐกิจ สิทธิอำนาจ หรือเสียงอื่นๆ

ระบอบประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลจะต้องไม่ถูกกำกับให้เดินไปสู่การมุ่งประโยชน์ส่วนตนหรือของกลุ่มตน หรือนำไปใช้ในการทำลายล้ายกลุ่มอื่นๆ ตราบเท่าที่กลุ่มอื่นๆ เหล่านั้นคือพลเมืองของ “ระบอบปกครองแบบระเบียบใหม่” (New Order) หรือทำลายหลักปัญจะศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 โดยแท้จริงแล้ว รากฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลได้ถูกรับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วโดยการรวมของผู้คนทุกกลุ่มที่สนใจต่อชีวิตของรัฐและสังคมผ่านกระบวนการตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์....

ดังนั้น จึงมีความชัดเจนว่าประธานาธิบดีในฐานะที่เป็นหัวหน้าของรัฐบาล และสภาที่ปรึกษาประชาชนในฐานะที่เป็นผู้คอยกำกับดูแลในเชิงสถาบัน จะต้องทำงานร่วมกันในระดับวันต่อวันโดยให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 แท้จริงแล้ว กลุ่มต่อต้านดังที่พบได้ในระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมนั้นย่อมเป็นสิ่งแปลกปลอมในชีวิตของระบอบประชาธิปไตยแบบปัญจะศีล ระบอบประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลจะรับรองได้แค่การตัดสินใจแบบเอกฉันท์ผ่านทางผู้แทนในสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาที่ปรึกษาประชาชนเท่านั้น ในเรื่องนี้จำเป็นที่เราต้องตระหนักว่าระบบของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 นั้นกำหนดให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในรัฐบาลอย่างเต็มรูปและมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสภาที่ปรึกษาประชาชน ในขณะที่รัฐมนตรีแห่งรัฐต่างๆ เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่รับใช้ต่อประธานาธิบดีหรือต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประธานาธิบดีเท่านั้น...

ในประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลนั้น การนำหลักสิทธิมนุษยชนไปปรับใช้นั้นจะได้รับการประกันอย่างคงเส้นคงวาภายใต้ขอบเขตที่กำหนดไว้โดยหลักปัญจะศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 ผลก็คือ ชีวิตระบบพรรคการเมืองจะได้รับการประกันเพื่อที่จะเอื้อให้เกิดกลไกที่ดีและสร้างสรรค์สำหรับสิทธิของประชาชนในการที่จะจัดตั้ง เข้าร่วม และแสดงความคิดเห็นหรือจุดยืนทางการเมืองของตน พรรคการเมืองจะทำให้หลักการ “ปกครองโดยประชาชนซึ่งนำพากันภูมิปัญญาอันเกิดจากการใคร่ครวญและการมีตัวแทน” เกิดขึ้นได้ดังที่กำหนดไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 ในฐานะเครื่องมือของระบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองจะต้องผูกพันโดยความรับผิดชอบต่างๆ ชุดหนึ่งดังที่ได้กล่าวไปแล้วในเบื้องต้น

กฎเกณฑ์ที่ควบคุมองค์กรภายในของพรรคและความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองจะต้องวางอยู่บนหลักการแห่งครอบครัว ณ จุดนี้ เราหวังจะเน้นให้เห็นว่า เป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ในการที่จะมุ่งเน้นในเรื่องปัญหาทางอุดมการณ์มากจนเกินไป ชาติของเราได้ประโยชน์น้อยมากจากความขัดแย้งที่ต่อสู้กันอยู่นับตั้งแต่เราได้สถาปนาหลักปัญจะศีลขึ้นเป็นหลักปรัชญาแห่งชีวิต อันเป็นอุดมการณ์ร่วมของเรา และเป็นอุดมการณ์ของทุกพรรคการเมืองและทุกองค์กรต่างๆ การแบ่งพรรคแบ่งกลุ่มออกเป็นขั้วๆ ของพรรคการเมืองในแบบเก่าจะต้องถูกโล๊ะทิ้งไปเนื่องจากมันนำไปสู่การทำให้ความแตกต่างทางอุดมการณ์มีความแหลมคมยิ่งขึ้นอันยังผลให้เกิดเป็นความขัดแย้งและความระแวงสงสัย

ถ้าหากยังมีการแบ่งกันเป็นกลุ่มชาตินิยม ศาสนาและสังคมนิคมแบบปัญจะศีลในสถาบันผู้แทนราษฎร ก็คงเพียงเพื่อผลประโยชน์ในการกำหนดแนวกระแสความคิดและทำให้ง่ายขึ้นต่อการคิดใคร่ครวญเพื่อบรรลุถึงความเป็นเอกฉันท์บางอย่าง จึงไม่มีความตั้งใจใดๆ ที่จะบ่งบอกถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่มเหล่านี้หรืออุดมการณ์ทางการเมืองของกลุ่มเหล่านี้ เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้ (กลุ่มในครอบครัวระเบียบใหม่) ไม่มีความแตกต่างกันในทางอุดมการณ์ เพียงแต่แตกต่างกันในเรื่องลำดับความสำคัญในโครงการต่อสู้ของพวกเขา อันเป็นแผนโครงการที่จะทำให้ความเป็นเอกราชมีเนื้อหาที่จับต้องได้และทำให้ประเด็นแง่มุมต่างๆ ของหลักปัญจะศีลกับรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง....

มติของสภาที่ปรึกษาประชาชน เลขที่ XXII[1966] เน้นให้เห็นว่า พรรค องค์กรมวลชน และกลุ่มอาชีพจะต้องเคลื่อนไปสู่การลดความซับซ้อนของตนลง อันนี้หมายความว่า โดยแก่นแท้แล้ว สิ่งที่เราจะต้องหลีกเลี่ยงการเพิ่มจำนวนของพรรคการเมือง เว้นแต่มีความจำเป็นจะต้องกำหนดให้หน้าที่และภารกิจของพรรคการเมืองเดินอยู่ในแถว เพื่อประโยชน์ของประชาธิปไตยและความผาสุกของประชาชน

บนพื้นฐานของความคิดอันเกี่ยวกับแก่นแท้ของประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลและหน้ากับภารกิจของพรรคการเมือง รัฐบาลกำลังมีนโยบายที่จะให้มีพรรคการเมืองขึ้นอีกพรรคหนึ่ง ประเด็นนี้กำลังเป็นเรื่องถกเถียงอภิปรายกันอย่างมากในหมู่สาธารณชน การปรากฏขึ้นของพรรคดังกล่าวไม่จำเป็นต้องขัดแย้งต่อและทั้งยังสามารถมีความชอบธรรมได้จากหลักการในเรื่องทำให้ทุกอย่างขึ้นเกี่ยวกับพรรคการเมืองและองค์กรมวลชน ตอนนี้มีองค์กรอิสลามจำนวนมากที่ไม่ได้รวมกันอยู่ในพรรคอิสลาม พวกเขารู้สึกว่า พวกเขายังไม่ส่งสัญญาณทางการเมืองของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเป้าหมายที่ว่า แนวคิดในเรื่องการตั้งพรรคการเมืองอิสลามขึ้นใหม่ เพื่อให้สามารถรวบรวม กำกับและรวมองค์กรอิสลามที่ไม่ใช่พรรคการเมืองทุกองค์กรเข้าด้วยกัน จึงควรได้รับการเคารพและสนับสนุน การก่อตั้งพรรคแบบที่ไม่ได้ทำให้บรรลุถึงหลักการดังกล่าวข้างต้นก็ไม่ควรได้รับอนุญาต เนื่องจากจะขัดแย้งกับหลักการเรื่องความง่าย...

ในการใช้เสรีภาพทางศาสนาของเรานั้น จำเป็นต้องบอกไว้ด้วยว่า การทำตามศาสนบัญญัติดังที่กำหนดไว้ในหลักศาสนาต่างๆ ของเรานั้น เราควรช่วยกันสอดส่องเพื่อให้แน่ใจว่า ความแตกต่างด้านความคิดไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากสามารถถูกนำไปใช้บิดเบือนโดยศัตรูของยุคระเบียบใหม่และศัตรูของศาสนาเอง – คือพวกกากเดนไร้ศาสนาของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย – เพื่อทำให้เราหันมาต่อต้านกันเอง...

ในพัฒนาการของชีวิตทางการเมืองอันสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลนั้น กลุ่มอาชีพที่มีศักยภาพแท้จริงในการแสดงบทบาทนำในการปกป้องและค้ำยันหลักปัญจะศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 คือ กลุ่มกองทัพแห่งอินโดนีเซีย (ABRI)...

ขอบเขต/ระดับที่กองทัพอินโดนีเซียจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้นตั้งอยู่บนสิ่งต่างๆ หลายอย่าง กล่าวคือ อันตรายที่คุกคามความปกติของหลักปัญจะศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 การคุกคามต่อความผาสุกของผู้คนและเอกภาพของชาติ และการคุกคามโดยตรงต่อรัฐ ไม่ว่าจะจากภายในหรือภายนอก กองทัพอินโดนีเซียไม่ได้เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ว่า นักวางแผนบางคนในอดีตได้ใช้กองกำลังบางหน่วยในกองทัพอินโดนีเซียเพื่อการต่อต้านลุกฮือและการบิดเบือนอื่นๆ จากหน้าที่ของตน แต่ประวัติศาสตร์ก็ยังบันทึกไว้ด้วยว่า การลุกฮือและการบิดเบือนเหล่านี้มักจะถูกปราบปรามลงโดยตัวกองทัพอินโดนีเซียเอง...

กองทัพอินโดนีเซียจะไม่และไม่สามารถกำหนด/บังคับใช้การปกครองแบบเผด็จการทหารได้ เนื่องจากสมาชิกของกองทัพอินโดนีเซียล้วนแต่ยึดถือคำปฏิญาณทหารและการสาบานตนว่าจะเป็นผู้พิทักษ์หลักปัญจะศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945

บทบาทหลักของกองทัพอินโดนีเซียในปัจจุบันจึงไม่ใช่ผลจากความกระหายต่ออำนาจ ถ้ากองทัพอินโดนีเซียต้องการอำนาจจริงแล้วไซร้ พวกเขาก็สามารถยึดครองมันได้เมื่อมีโอกาส เช่นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1965 เมื่อกองทัพอินโดนีเซียใช้กองกำลังในการกวาดล้างการกบฏของขบวนการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียและฝ่ายสนับสนุนเมื่อวันที่ 30 กันยายน อันเป็นช่วงเวลาแห่งความโกลาหลวุ่นวายและเกิดช่องว่างในการบริหารของรัฐบาล....

มีการพูดกันถึง “การทำให้การบริหารรัฐกลายเป็นสีเขียว” อันเนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่ของกองทัพเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมของสังคมและของรัฐ แต่อย่าเพิ่งกระโดดไปยังข้อสรุปว่านั่นคือเผด็จการทหาร ขอให้มองไปยังสถาบันทางกฎหมายที่ตั้งอยู่เสียก่อน ตั้งคำถามเสียก่อนว่า แล้วสิทธิมนุษยชนกับสิทธิประชาธิปไตยได้รับการประกันโดยกฎหมายอันตั้งอยู่บนรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่าวัดการเป็นเผด็จการทหารโดยเพียงแค่นับจำนวนเสื้อของกองทัพอินโดนีเซีย

ถ้าในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ของกองทัพอินโดนีเซียได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำตำบล อันนั้นก็เพราะว่าพวกเขาได้รับเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎรผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยและสอดคล้องกับหลักกฎหมายที่เป็นอยู่ จึงชัดเจนว่าไม่ได้หมายความว่ากองทัพอินโดนีเซียหวังจะเข้าไปควบคุมในทุกตำแหน่งหน้าที่ สมาชิกของกองทัพอินโดนีเซียได้รับแต่งตั้งในสถาบันของรัฐบาลหลายแห่งเนื่องจากพวกเขามีหน้าที่พลเรือนจะต้องปฏิบัติและเนื่องจากพวกเขาจำเป็นจะต้องทำให้ความพยายามต่างๆ ของรัฐบาลสามารถบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ...

จึงค่อนข้างชัดเจนว่า ประเด็นเรื่องการทำให้เป็นรัฐทหารนั้นไม่ได้วางอยู่พื้นฐานที่เป็นจริง เพราะมันไม่จริง ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นประเด็นที่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากนำไปใช้ในการปฏิเสธบทบาทของกองทัพอินโดนีเซียในฐานะกลุ่มอาชีพ ดังที่ได้กระทำก่อนหน้านี้โดยพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม กองทัพอินโดนีเซียจะยังคงยอมรับคำวิจารณ์และคำเสนอแนะที่สร้างสรรค์และจริงใจอย่างเปิดหัวใจออกกว้าง ทั้งเพื่อประโยชน์ของกองทัพอินโดนีเซียเองและเพื่อประโยชน์โดยรวมของเราเอง

โดยสรุปและในฐานะสิ่งชี้นำสำหรับการนำประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลไปปฏิบัติ พวกเราหวังจะเน้นให้เห็นว่า ประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลจะยังคงเทิดทูนหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาธิปไตยของพลเมืองทุกคนไว้อย่างสูงส่ง โดยผู้ใช้สิทธิเหล่านี้จะต้องจงภักดีต่อความดีงามที่ยิ่งใหญ่กว่า คือความดีของสังคม ของประชาชน และของรัฐ มันคงจะเป็นอุดมคติได้เลยถ้าหากว่าในการนำหลักประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลไปปฏิบัตินั้น แต่ละคนยังสามารถสร้างดุลยภาพระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม ระหว่างผลประโยชน์ของกลุ่มกับของชาติ และระหว่างประชาชนกับรัฐ แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้น อันเป็นความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม หรือผลประโยชน์ของบางกลุ่มกับผลประโยชน์ของชาติ เราก็จะต้องสังเวยผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลหรือของกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของสังคมหรือชาติอย่างสมัครใจและไม่เห็นแก่ตนอย่างจริงใจ นี่คือหลักการและกฎของประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลอันชอบธรรม และในทัศนะของเราแล้ว นี่คือเครื่องประกอบอันเหมาะสมที่สุดเพื่อให้บรรลุถึงการเป็นสังคมที่ยุติธรรมและมั่งคั่งโดยตั้งอยู่บนหลักปัญจะศีลทั้งในทางวัตถุและทางจิตวิญญาณ

No comments: