Wednesday, July 06, 2011

บทความเรื่อง "พลังทางศีลธรรม" ของอารีฟ บูดีมัน

อารีฟ บูดีมันเคยเปรียบเทียบขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในอินโดนีเซียกับภาพลักษณ์ของ "เชน" ในภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้ (Shane, 1953) เชนเป็นคือนักดวลปืนในภาพยนตร์คาบอยตะวันตก ผู้ซึ่งเดินจากไปอย่างสง่างามในยามอรุณรุ่งหลังจากช่วยเหลือชาวบ้านจัดการกับอันธพาลร้าย ภาพพจน์ของนักศึกษาในฐานะพลังทางศีลธรรมเช่นนี้ยังคงมีพลังอย่างมากตลอดยุคระเบียบใหม่และช่วยเปิดพื้นที่ให้แก่ขบวนการนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมือง บทความที่นำมาแปลนี้เคยได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Harian Kami ของนักศึกษาเื่มื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1971 ในชื่อว่า "คำตอบต่ออาลี ซาดิกินในเรื่องกลุ่มสีขาว (Golput - Golongan Putih)"

ผู้ว่าฯ [จาการ์ตา] อาลี ซาดิกิน ได้กล่าวว่า เนื่องจากพวกกลุ่มสีขาว (Golput – Golongan Putih) ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ของการเลือกตั้ง พวกเขาจึงได้ล้ำเส้นและได้ทำให้กลายเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว... ในฐานะที่เป็นนักศีลธรรมที่บริสุทธิ์ พวกเขาควรจะเก็บความคิดเหล่านั้นไว้กับตนเองและไม่ควรพยายามแพร่กระจายความคิดเหล่านั้นหรืออิทธิพลอื่นๆ.... การเมืองมักจะเป็นเกมที่สกปรกและรุนแรง เต็มไปด้วยกลอุบายและการเล่นสกปรก นี่คือคำพูดต่างๆ ของอาลี ซาดิกินที่มีการรายงานไว้

ตรงนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประการ คือ

1.แท้จริงแล้ว กลุ่มสีขาวเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเปล่า? ข้าพเจ้าจะขอเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยสุการโนให้ฟัง ในขณะนั้น รัฐบาลสุการโนกำลังยุ่งอยู่กับการผนวกรวม กลุ่มพลังใหม่ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งประดิษฐ์สร้างสำหรับเรื่องนี้ คือ Conefo [Conference of the New Emerging Forces - การสัมมนากลุ่มพลังใหม่] กำลังอยู่ในกระบวนการจัดสร้าง ประชาชนถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลาให้พูดถึงหลักการ Nasakom, เครื่องรางห้าประการแห่งการปฏิวัติ Panca Azimat Reolusi -Five Talismans of the Revolution] และอะไรทำนองนั้น เศรษฐกิจถูกทอดทิ้งโดยสิ้นเชิงจนถึงระดับที่ว่าผู้คนไม่สามารถซื้อหาข้าวกินได้อีกต่อไป วันหนึ่งสามัญชนผู้หนึ่งได้กล่าวว่า ท่านครับ ผมหิว ผมไม่สามารถใช้เวลาไปกับการชุมนุมทางการเมือง ผมอยากจะกิน โดยปราศจากการตั้งคำถามตรวจสอบ ชายผู้นี้ก็ถูกจับกุมตัวในข้อหาสมคบคิดทางการเมือง หรือหากพูดให้จำเพาะเจาะจงลงไปก็คือ การเมืองในการต่อต้านรัฐบาล

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงนั้น คือการเมืองในอินโดนีเซียกำลังเดินเครื่องเกินกำลังก้าวล่วงแทรกซึมไปจนถึงทุกแง่มุมของชีวิต เมื่อไรก็ตามที่คนกล่าวถึงอะไรบางอย่าง มันมักจะก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมืองตามมา การเมืองได้เข้าควบคุมยึดครองเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง

สภาพเช่นนี้ก็ยังดำรงอยู่ ผู้คนถูกบีบให้ออกเสียงบนพื้นฐานของกฎ/คำสั่งทางศาสนา การข่มขู่ให้ออกจากงาน หรือผ่านกำลังอาวุธ คนธรรมดาทั่วไปซึ่งมองเห็นสิ่งเหล่านี้กล่าวว่า พ่อแม่พี่น้องเอ๋ย โปรดอย่าระรานเราเลย โปรดสงสารคนยากจนที่ถูกผลักไปมาอยู่ตลอดเวลา แล้วพวกคนพาลก็จะตอบโต้อย่างโกรธเคืองว่า อ๋อ เอ็งอยากถูกการเมืองเล่นงานหรือ? และคนธรรมดาสามัญที่ว่านี้คือพวกเรากลุ่มสีขาวนี่เอง

2.พวกนักศีลธรรมสามารถรณรงค์บนพื้นฐานของศีลธรรมแห่งตนเท่านั้นไม่ได้หรือ? ข้าพเจ้าคิดว่า มันผิดศีลธรรมถ้าหากนักศีลธรรมไม่พยายามจะส่งเสริมความคิดทางศีลธรรมของตน แท้จริงแล้ว ชั่วขณะที่นักศีลธรรมหยุดรณรงค์ เขาก็ไม่ได้เป็นนักศีลธรรมอีกต่อไป แต่คือคนที่เห็นแก่ตัว

ความจริงที่ว่า นักศีลธรรมมีส่วนร่วมในการรณรงค์นั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาได้ ล้ำเส้น และเข้าไปพัวพันกับการเมืองแต่อย่างใด มันอาจจะจริงที่ว่า การรณรงค์ของนักศีลธรรมได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่การเมืองได้ถูกแยกทางจากศีลธรรม ถ้านักศีลธรรมผู้รณรงค์ให้ทัศนะของตนคือนักการเมืองทั้งหมดแล้ว พระพุทธเจ้า พระเยซู ศาสดามูฮัมหมัด กฤษณมูรติ และเบอร์ทรันด์ รัสเซล จะต้องเป็นนักการเมืองครั้งใหญ่กันทุกคนด้วยเช่นกัน

3.การเมืองมักจะต้องเต็มไปด้วยกลอุบายและเกมสกปรกจริงหรือ? นั่นถือวิถีทางที่จะปรากฏขึ้นถ้าคุณมองที่การเมืองอินโดนีเซียในทุกวันนี้ แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น แท้จริงกลุ่มสีขาวต้องการสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ดี ตัวอย่างเช่น โดยการสร้างหลักการพื้นฐานที่ดีและการมีคนกลางที่ตัดสินอย่างยุติธรรม พลโทอาลี ซาดิกินเคยเป็นนายทหารที่ซื่อตรง เมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก เขาอาจจะถึงกับตะลึงงันที่ได้พบเห็นว่า เกมการเมืองที่เล่นกันนั้นมันสกปรกยังไง ทั้งโดยพรรคการเมืองและโดยกลุ่มสหชีพเอง ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อผู้ว่าฯ อาลี ซาดิกินพูดว่า การเมืองคือเกมสกปรก นั้น ท่านคงจะยังไม่ได้ถึงสิ้นความหวัง ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ อาลี ซาดิกินเข้าร่วมกับกลุ่มยุวชนที่ต้องการจะเห็นการเมืองใหม่ที่สะอาดขึ้น โดยมาต่อสู้ร่วมกับกลุ่มสีขาว

No comments: