Tuesday, July 26, 2011

บทความของนูรโชลิช มัดจิด (Nurcholish Madjid): เอาอิสลาม แต่ไม่เอาพรรคมุสลิม!

บทความที่ได้รับการอ้างถึงอย่างกว้างขวางชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ.1970 เนื้อหาที่ปรากฏในเอกสารนี้ ตัดมาเพียงบางส่วนเท่านั้น...

ความจริงอันน่าพึงใจเกี่ยวกับอิสลามในอินโดนีเซียร่วมสมัยอย่างหนึ่ง คือ พัฒนาการอย่างรวดเร็วของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องปริมาณผู้นับถือศาสนาอิสลาม อย่างน้อยก็ในด้านที่เป็นทางการ ภูมิภาคซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เป็นที่คุ้นเคยกับศาสนาอิสลาม ถึงตอนนี้ก็เริ่มคุ้นเคยแล้ว จนถึงขนาดที่ว่า ศาสนาอิสลามได้กลายเป็นศาสนาหลักของผู้คนที่อยู่อาศัย พร้อมด้วยศาสนาอื่นๆ ที่ตั้งมั่นอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนั้น ยังมีความสนใจต่อศาสนาอิสลามเพิ่มยิ่งขึ้นในหมู่ชนชั้นสูงทางสังคม อย่างน้อยก็ในด้านการแสดงออกที่เป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นคำถามที่เปิดกว้างอยู่ว่า พัฒนาการในเรื่องผลจากความดึงดูดใจต่อความคิดเกี่ยวกับศาสนาอิสลามดังที่ถูกนำเสนออยู่โดยหัวขบวนนำเหล่านี้จะไปไกลแค่ไหน เป็นไปได้ไหมที่พัฒนาการในเชิงปริมาณที่ว่านี้ของอิสลามจึงจะไม่ถูกตัดสินว่าไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าเครื่องชี้วัดในเรื่องการปรับตัวทางสังคม เพื่อตอบสนองต่อพัฒนาการทางการเมืองล่าสุดในอินโดนีเซีย คือ ความพ่ายแพ้ของคอมมิวนิสต์ อันส่งผลให้รู้สึกว่าเป็นชัยชนะของอิสลาม? (เราควรระลึกไว้ด้วยว่า การปรับตัวทางสังคมที่ว่านั้น ยังเกิดขึ้นในช่วงยุคระเบียบเก่า ด้วย ซึ่งประธานาธิบดีสุการโนมักจะแสดงความสนใจใคร่รู้อย่างยิ่งต่ออิสลาม พอๆ กับที่สนใจในลัทธิมาร์กซ์ อย่างไรก็ตาม เราบอกถึงแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการแสดงออกถึงความสนใจของสุการโนได้ด้วย)

คำตอบต่อคำถามที่ยกขึ้นมาเบื้องต้นนี้ อาจวางอยู่ในอีกคำถามหนึ่ง คือ ผู้คนเหล่านี้สนใจในพรรคการเมืองอิสลามหรือองค์กรอิสลามกันแค่ไหน? ยกเว้นบางคนแล้ว ค่อนข้างชัดเจนว่า พวกเขาไม่ได้สนใจต่อพรรคหรือองค์กรเช่นนั้นแม้แต่น้อย จนถึงขนาดว่า ทัศนคติของพวกเขาอาจออกมาในรูปนี้ คือ เอาอิสลาม แต่ไม่เอาพรรคอิสลาม! (Islam yes, Islamic parties no!) ถ้าพรรคการเมืองอิสลามคือเครื่องมือสำหรับความคิดอันตั้งอยู่บนหลักการอิสลาม ก็ชัดเจนอยู่ว่าไม่ค่อยมีคนสนใจต่อความคิดทำนองนั้นอีกต่อไป พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความคิดและการคิดแบบอิสลามนั้นอยู่ในกระบวนการของการกลายเป็นฟอสซิลอย่างสมบูรณ์ คือสูญเสียพลวัตไปโดยสิ้นเชิง พรรคการเมืองอิสลามจึงล้มเหลวที่จะก่อรูปภาพพจน์ในทางบวกและให้คนเห็นอกเห็นใจ และแท้จริงแล้วภาพพจน์ที่ว่านั้นก็ออกจะตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ (อีกทั้งบางภาคส่วนของชุมชนมุสลิมมีชื่อเสียงในเรื่องคอรัปชั่นอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที)

ปริมาณกับคุณภาพ

คือความจริงที่ชัดเจนโดยตัวมันเองที่ว่าคุณภาพมีความสำคัญมากกว่าปริมาณ กระนั้นก็ตาม ชุมชนมุสลิมในอินโดนีเซียกำลังใฝ่หาสิ่งที่ตรงกันข้าม คือการให้ความสำคัญต่อปริมาณเหนือคุณภาพ มันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป้าหมายของการต่อสู้ย่อมบรรลุถึงได้ดีกว่าหากดำเนินการผ่านความเป็นเอกภาพยิ่งกว่าการแตกกระจาย แต่ความเป็นเอกภาพที่ว่านี้สามารถจะหล่อหลอมขึ้นอย่างมีพลวัตและกลายเป็น

พลังที่มีพลวัตถ้าหากความคิดอันเป็นรากฐานนั้นไม่มีพลวัตได้หรือไม่? (ดังความคิดของเลนินที่ว่า ไม่มีการปฏิวัติโดยปราศจากทฤษฎีการปฏิวัติ) ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ความมีพลวัตย่อมมีผลกระทบมากกว่าความเฉื่อยชา แม้ว่าความเฉื่อยชาจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ก็ตาม ความด้านชา/อัมพาตเมื่อไม่นานมานี้ของชุมชนมุสลิม เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งในท่ามกลางสาเหตุอื่นๆ คือ มันได้ปิดตาต่อข้อบกพร่องของตัวเอง ซึ่งสามารถขจัดออกไปโดยการเคลื่อนไหวๆ ของความคิดปฏิรูป

การเปิดเสรีในยุคปัจจุบันของทัศนะต่างๆ แห่งคำสอนอิสลาม

... การฟื้นฟูอีกครั้งจะต้องดำเนินการจากการริเริ่มสองอย่างที่เกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ การปลดปล่อยตัวเองจากคุณค่าแบบจารีต ในขณะเดียวกับที่ค้นหาคุณค่าแบบที่มุ่งเน้นไปสู่อนาคต การถวิลหาอดีตจะต้องถูกแทนที่โดยวิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้า ซึ่งจำเป็นต้องใช้กระบวนเปิดเสรี คำสอนและทัศนะต่างๆ ของอิสลาม สิ่งนี้จำเป็นต้องรวมไปถึงกระบวนการอื่นๆ:

การแยกเรื่องศาสนาออกจากเรื่องทางโลกย์

การแยกเรื่องศาสนาออกจากเรื่องทางโลกย์ไม่ได้หมายถึงการประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องทางโลกย์ (secularism) เนื่องจากแนวคิดเรื่องทางโลกย์คือคำเรียกอุดมการณ์อย่างหนึ่ง อันหมายถึงโลกทัศน์ที่ปิดตัวเองชุดใหม่ที่ทำหน้าที่แทบจะเหมือนกับศาสนาใหม่ ในบริบทนี้ สิ่งที่หมายถึงการแยกเรื่องศาสนาออกจากเรื่องทางโลกย์ (secularization) คือ รูปแบบของการพัฒนาเพื่อการปลดปล่อย กระบวนการแห่งการปลดปล่อยดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากชุมชนมุสลิม -ในฐานะผลสืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ของตัวมันเอง- ไม่สามารถแยกสิ่งซึ่งอยู่เหนือกาลเทศะกับสิ่งที่อยู่ในห้วงเวลาหนึ่งๆ โดยใช้กรอบคิดของคุณค่าต่างๆ ที่ยึดถือเป็นคุณค่าแบบอิสลามได้อีกต่อไป นอกจากนี้ ลำดับชั้นของคุณค่าดังกล่าวมักจะถูกกลับหัวกลับหาง (ดังนั้น) ทุกสิ่งที่อยู่เหนือกาลเทศะจึงถูกยึดถือว่าเป็นสิ่งที่ eschatological โดยไม่มีข้อยกเว้น ขณะที่ชาวมุสลิมอาจจะไม่พูดถึงสิ่งนี้อย่างเปิดเผย และกระทั่งปฏิเสธข้อเสนอแนะดังกล่าว แต่แนวทางเช่นนี้ก็สะท้อนถึงการกระทำในกิจวัตรประจำวันของพวกเขา ผลลัพธ์ของมันจึงเป็นสิ่งที่รู้กันดี คือ อิสลามได้ถูกทำให้เท่ากับจารีต และการเป็นชนอิสลามก็มีนัยอย่างเดียวกับการเป็นนักจารีตนิยม

(ต่อ)

Wednesday, July 06, 2011

บทความเรื่อง "พลังทางศีลธรรม" ของอารีฟ บูดีมัน

อารีฟ บูดีมันเคยเปรียบเทียบขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในอินโดนีเซียกับภาพลักษณ์ของ "เชน" ในภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้ (Shane, 1953) เชนเป็นคือนักดวลปืนในภาพยนตร์คาบอยตะวันตก ผู้ซึ่งเดินจากไปอย่างสง่างามในยามอรุณรุ่งหลังจากช่วยเหลือชาวบ้านจัดการกับอันธพาลร้าย ภาพพจน์ของนักศึกษาในฐานะพลังทางศีลธรรมเช่นนี้ยังคงมีพลังอย่างมากตลอดยุคระเบียบใหม่และช่วยเปิดพื้นที่ให้แก่ขบวนการนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมือง บทความที่นำมาแปลนี้เคยได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Harian Kami ของนักศึกษาเื่มื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1971 ในชื่อว่า "คำตอบต่ออาลี ซาดิกินในเรื่องกลุ่มสีขาว (Golput - Golongan Putih)"

ผู้ว่าฯ [จาการ์ตา] อาลี ซาดิกิน ได้กล่าวว่า เนื่องจากพวกกลุ่มสีขาว (Golput – Golongan Putih) ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ของการเลือกตั้ง พวกเขาจึงได้ล้ำเส้นและได้ทำให้กลายเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว... ในฐานะที่เป็นนักศีลธรรมที่บริสุทธิ์ พวกเขาควรจะเก็บความคิดเหล่านั้นไว้กับตนเองและไม่ควรพยายามแพร่กระจายความคิดเหล่านั้นหรืออิทธิพลอื่นๆ.... การเมืองมักจะเป็นเกมที่สกปรกและรุนแรง เต็มไปด้วยกลอุบายและการเล่นสกปรก นี่คือคำพูดต่างๆ ของอาลี ซาดิกินที่มีการรายงานไว้

ตรงนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประการ คือ

1.แท้จริงแล้ว กลุ่มสีขาวเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเปล่า? ข้าพเจ้าจะขอเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยสุการโนให้ฟัง ในขณะนั้น รัฐบาลสุการโนกำลังยุ่งอยู่กับการผนวกรวม กลุ่มพลังใหม่ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งประดิษฐ์สร้างสำหรับเรื่องนี้ คือ Conefo [Conference of the New Emerging Forces - การสัมมนากลุ่มพลังใหม่] กำลังอยู่ในกระบวนการจัดสร้าง ประชาชนถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลาให้พูดถึงหลักการ Nasakom, เครื่องรางห้าประการแห่งการปฏิวัติ Panca Azimat Reolusi -Five Talismans of the Revolution] และอะไรทำนองนั้น เศรษฐกิจถูกทอดทิ้งโดยสิ้นเชิงจนถึงระดับที่ว่าผู้คนไม่สามารถซื้อหาข้าวกินได้อีกต่อไป วันหนึ่งสามัญชนผู้หนึ่งได้กล่าวว่า ท่านครับ ผมหิว ผมไม่สามารถใช้เวลาไปกับการชุมนุมทางการเมือง ผมอยากจะกิน โดยปราศจากการตั้งคำถามตรวจสอบ ชายผู้นี้ก็ถูกจับกุมตัวในข้อหาสมคบคิดทางการเมือง หรือหากพูดให้จำเพาะเจาะจงลงไปก็คือ การเมืองในการต่อต้านรัฐบาล

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงนั้น คือการเมืองในอินโดนีเซียกำลังเดินเครื่องเกินกำลังก้าวล่วงแทรกซึมไปจนถึงทุกแง่มุมของชีวิต เมื่อไรก็ตามที่คนกล่าวถึงอะไรบางอย่าง มันมักจะก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมืองตามมา การเมืองได้เข้าควบคุมยึดครองเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง

สภาพเช่นนี้ก็ยังดำรงอยู่ ผู้คนถูกบีบให้ออกเสียงบนพื้นฐานของกฎ/คำสั่งทางศาสนา การข่มขู่ให้ออกจากงาน หรือผ่านกำลังอาวุธ คนธรรมดาทั่วไปซึ่งมองเห็นสิ่งเหล่านี้กล่าวว่า พ่อแม่พี่น้องเอ๋ย โปรดอย่าระรานเราเลย โปรดสงสารคนยากจนที่ถูกผลักไปมาอยู่ตลอดเวลา แล้วพวกคนพาลก็จะตอบโต้อย่างโกรธเคืองว่า อ๋อ เอ็งอยากถูกการเมืองเล่นงานหรือ? และคนธรรมดาสามัญที่ว่านี้คือพวกเรากลุ่มสีขาวนี่เอง

2.พวกนักศีลธรรมสามารถรณรงค์บนพื้นฐานของศีลธรรมแห่งตนเท่านั้นไม่ได้หรือ? ข้าพเจ้าคิดว่า มันผิดศีลธรรมถ้าหากนักศีลธรรมไม่พยายามจะส่งเสริมความคิดทางศีลธรรมของตน แท้จริงแล้ว ชั่วขณะที่นักศีลธรรมหยุดรณรงค์ เขาก็ไม่ได้เป็นนักศีลธรรมอีกต่อไป แต่คือคนที่เห็นแก่ตัว

ความจริงที่ว่า นักศีลธรรมมีส่วนร่วมในการรณรงค์นั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาได้ ล้ำเส้น และเข้าไปพัวพันกับการเมืองแต่อย่างใด มันอาจจะจริงที่ว่า การรณรงค์ของนักศีลธรรมได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่การเมืองได้ถูกแยกทางจากศีลธรรม ถ้านักศีลธรรมผู้รณรงค์ให้ทัศนะของตนคือนักการเมืองทั้งหมดแล้ว พระพุทธเจ้า พระเยซู ศาสดามูฮัมหมัด กฤษณมูรติ และเบอร์ทรันด์ รัสเซล จะต้องเป็นนักการเมืองครั้งใหญ่กันทุกคนด้วยเช่นกัน

3.การเมืองมักจะต้องเต็มไปด้วยกลอุบายและเกมสกปรกจริงหรือ? นั่นถือวิถีทางที่จะปรากฏขึ้นถ้าคุณมองที่การเมืองอินโดนีเซียในทุกวันนี้ แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น แท้จริงกลุ่มสีขาวต้องการสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ดี ตัวอย่างเช่น โดยการสร้างหลักการพื้นฐานที่ดีและการมีคนกลางที่ตัดสินอย่างยุติธรรม พลโทอาลี ซาดิกินเคยเป็นนายทหารที่ซื่อตรง เมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก เขาอาจจะถึงกับตะลึงงันที่ได้พบเห็นว่า เกมการเมืองที่เล่นกันนั้นมันสกปรกยังไง ทั้งโดยพรรคการเมืองและโดยกลุ่มสหชีพเอง ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อผู้ว่าฯ อาลี ซาดิกินพูดว่า การเมืองคือเกมสกปรก นั้น ท่านคงจะยังไม่ได้ถึงสิ้นความหวัง ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ อาลี ซาดิกินเข้าร่วมกับกลุ่มยุวชนที่ต้องการจะเห็นการเมืองใหม่ที่สะอาดขึ้น โดยมาต่อสู้ร่วมกับกลุ่มสีขาว