Tuesday, June 07, 2011

เอกสารของพลโทอาลี มูรโตโป เรื่อง “ทวิภารกิจของกองทัพ”

ใน ค.ศ.1972 ศูนย์ยุทธศาสตร์ศึกษาและนานาชาติศึกษา (CSIS) ซึ่งตั้งอยู่ในจาการตาได้ตีพิมพ์เอกสารสำคัญชิ้นหนึ่ง คือ The Acceleration and Modernization of 25 Years’ Development เอกสารชิ้นที่คัดเลือกนำมานี้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือเล่มดังกล่าว แม้ว่าข้อเขียนชิ้นนี้จะได้รับการตีพิมพ์ภายใต้ชื่อของอาลี มูรโตโป แต่เชื่อกันว่าคณะที่ปรึกษาของศูนย์ยุทธศาสตร์ศึกษาและนานาชาติศึกษาซึ่งส่วนใหญ่จบมาจากสหรัฐฯ มีส่วนร่วมอยู่มากในงานเขียนเชิงนโยบายชิ้นนี้ เอกสารชิ้นนี้ต่อมาถูกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1973 และเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง เนื้อหาส่วนที่นำมาแปลนี้นำมาจากฉบับภาษาอังกฤษที่ David Bourchier กับ Vedi Hadiz ได้แก้ไขไปบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับภาษาอินโดนีเซียในต้นฉบับเดิม

ในประเทศอินโดนีเซีย กองทัพถือกำเนิดขึ้นจากประชาชนและมีชีวิตอยู่ท่ามกลางประชาชนตั้งแต่ช่วงเวลาแรกแห่งการระเบิดขึ้นของการปฏิวัติทางกายภาพเพื่อต่อต้านลัทธิอาณานิคมเพื่อให้บรรลุถึงความเป็นเอกราชของเรา หลังจากได้บรรลุถึงความเป็นเอกราชของชาติแล้ว กองทัพก็ได้เข้าร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนเพื่อนำเอกราชไปสู่ดอกผลต่อไป ดังนั้นกองทัพอินโดนีเซียจึงไม่ได้เป็นเพียงกองทัพอาชีพเพื่อเป้าหมายในการดูแลการป้องกันชาติและความมั่นคงของชาติ แต่ยังเป็นพลังทางสังคมอีกอย่างหนึ่งอีกด้วย ความคิดเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์อินโดนีเซียนับตั้งแต่ได้รับเอกราช นับตั้งแต่จุดเริ่มต้น กองทัพก็ได้ปฏิบัติภารกิจสองอย่างนี้คู่ขนานกัน อันเป็นที่รู้จักกันในทุกวันนี้ว่า “ทวิภารกิจ” (dwifungsi)

ทั้งยังเป็นข้อเท็จจริงแห่งประวัติศาสตร์อีกด้วยว่า กองทัพคือผู้พิทักษ์และผู้ปกปักรักษาหลักปัญจศีลจากการเบี่ยงเบนหรือความพยายามใดๆ ที่จะบ่อนทำลายหลักการนี้ทุกประเภท ไม่ว่าจะโดยจากฝ่ายขวาจัดหรือจากฝ่ายซ้ายจัด

นับตั้งแต่การปรากฏตัวขึ้นของ “ยุคระเบียบใหม่” ในอินโดนีเซียหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ.1965 ของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) และการล่มสลายของ “ยุคระเบียบเก่า” กองทัพก็ได้มีบทบาทสำคัญในชีวิตของชาติในหลายด้านด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพยังได้ปรากฏตัวขึ้นในฐานะอำนาจอันมั่นคงเสถียรและทรงพลานุภาพอยู่เบื้องหลังนโยบายต่างๆ ของ “ยุคระเบียบใหม่”

นอกเหนือจากข้อพิจารณาเชิงประวัติศาสตร์เหล่านั้นแล้ว หลักทวิภารกิจของกองทัพยังมีพื้นฐานจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งทำให้เป็นไปได้ที่จะนำเอาหลักทวิภารกิจมาปฏิบัติให้ขยายและพัฒนาไปตามวิถีธรรมชาติและสอดคล้องกับหลักปัญจศีลและรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ.1945

ประการแรก ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 ระบุว่า: “การต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชได้บรรลุถึงชั่วยามแห่งการเฉลิมฉลอง เนื่องจากได้นำพาประชาชนแห่งอินโดนีเซียอยู่รอดปลอดภัยมาได้จนถึงประตูแห่งเอกราชของรัฐอินโดนีเซีย อันเสรี เป็นเอกภาพ มีอธิปไตย ยุติธรรมและรุ่งเรืองสถาพร” การต่อสู้เพื่อให้บรรลุถึงเอกราชของชาติจะดำเนินต่อไปสู่การต่อสู้เพื่อธำรงรักษาความเป็นเอกภาพ อธิปไตย ความยุติธรรมและความรุ่งเรืองสถาพรของชาติ ดังนั้นกองทัพซึ่งมีบทบาทแข็งขันในการปลดปล่อยประชาชนและรัฐอินโดนีเซียจากโซ่ตรวนแห่งอาณานิคม จึงมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องร่วมต่อสู้ในทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม เพื่อที่จะรักษาความมั่นคง พิทักษ์ป้องกันและบรรลุถึงพันธะสัญญาที่ปรากฏอยู่ในเอกราชของชาติ

ประการที่สอง ควรบันทึกไว้ด้วยว่ามาตรา 30 วรรค 1 ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 ระบุว่า: “พลเมืองทุกคนจะต้องมีสิทธิและมีหน้าที่ร่วมกันในการป้องกันประเทศ” ถ้าหลักการนี้ได้รับการยอมรับว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ในการป้องกันประเทศ ตลอดจนการปฏิบัติตามหน้าที่พื้นฐานต่างๆ ของตน... กองทัพซึ่งมีหน้าที่หลักคือการป้องกันประเทศก็ควรจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ในด้านอื่นๆ เพื่อพิทักษ์ปกป้องและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศได้เช่นกัน

ประการที่สาม มาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 ระบุว่า: “ประธานาธิบดีจะต้องมีสิทธิอำนาจสูงสุดเหนือกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ” ทั้งยังระบุแจกแจงไว้อีกด้วยว่า “ประธานาธิบดีมีอำนาจตามมาตราเหล่านี้โดยสิทธิอันชอบในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี” และ “นอกเหนือจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ประธานาธิบดีคือผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดของประเทศ สิทธิอำนาจและความรับผิดชอบจะต้องอยู่ในมือของประธานาธิบดี” ด้วยหลักที่ว่านี้ จึงสามารถสรุปได้ว่าประธานาธิบดีมีสิทธิที่จะใช้กองทัพในการสร้างและป้องกันรัฐปัญจศีล (Pancasila state) แห่งนี้ได้ในทุกด้าน

ประการที่สี่ มาตรา 3 ของมติสภาผู้แทนราษฎรเลขที่ xxiv/1966 ระบุว่า ข้อพิจารณาพื้นฐานในเรื่องนโยบายการป้องกันและความมั่นคงของประเทศ คือ:

1 คำอธิบายที่ได้จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม/ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อสภาผู้แทนราษฎร (DPR-GR) เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1966 และวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1966 ที่ยืนยันถึงสถานะของกองทัพในฐานะที่เป็นกลไกแห่งการปฏิวัติและกลไกแห่งรัฐ นอกเหนือจากกลไกอื่นๆ

และ

7 หน้าที่ทางสังคม-การเมืองของบรรดาเจ้าหน้าที่ของกองทัพ ในฐานะที่เป็นพลเมืองและผู้สนับสนุนการปฏิวัติปัญจศีล ต้องรวมถึงกิจการอื่นๆ ทุกด้านเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่หลัก Ampera และการปฏิวัติ ควรได้รับการรับรองและสามารถดำเนินการได้ต่อไป....

ประการสุดท้าย การป้องกันประเทศและหลักการความมั่นคงและหลักการต่อสู้ของกองทัพ ซึ่งได้ถูกจัดทำขึ้นโดยการประชุมสัมมนาเรื่องการป้องกันประเทศและความมั่นคงของชาติ (12-21 พฤศจิกายน ค.ศ.1966) ในกรุงจาการตาและได้รับการรับรองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและความมั่นคงคนที่ 1 เลขที่ KEP/B/177/1966 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1966 โดยถูกนำไปปฏิบัติใช้กับทุกเหล่าทัพตามคำสั่งของพลเอกสุฮารโตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ.1967 ระบุไว้ในบทที่ 7 ว่า:

นอกเหนือจากภารกิจในฐานะที่เป็นผู้ธำรงรักษาอำนาจรัฐในด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงแล้ว กองทัพควรมีภาระช่วยดูแลในกิจการอื่นๆ นอกเหนือจากการป้องกันประเทศและความมั่นคง ในบริบทเช่นนี้ กองทัพได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอาชีพขึ้นและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐ (บทนำทั่วไป)

หน้าที่หลักของกองทัพในฐานะกลุ่มอาชีพ คือ มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกิจการทุกด้านของรัฐและประชาชนในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อที่จะบรรลุถึงเป้าหมายของการปฏิวัติอินโดนีเซีย เพื่อให้เป็นไปตามคำขวัญ Ampera

บทบาทหน้าที่ตามอาชีพ (Karya function)

เพื่อที่จะปฏิบัติตามภารกิจพื้นฐานในฐานะกลุ่มอาชีพ กองทัพควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาและการสนับสนุนและช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ทุกด้านของชีวิตทางอุดมการณ์ ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางการเงิน ทางจิตวิญญาณ และทางสังคม-วัฒนธรรม เพื่อยังความเข้มแข็งให้แก่การปฏิวัติอินโดนีเซีย

No comments: