Tuesday, August 22, 2006

ความไม่รู้ของสังคมไทยเกี่ยวกับมุสลิม

โดย ทวีศักดิ์ เผือกสม ภาควิชาภูมิภาคศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
มติชน, 11 มิถุนายน 2547

ความรู้สึกของผู้เขียน เมื่อรู้ว่าเกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงที่ปัตตานี คือความสับสนงุนงง เสียใจ รวมทั้งโกรธทั้งสองฝ่ายที่ทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง เข้าใจว่าความโกรธเกิดขึ้นสะสมในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งคงไม่ต้องทบทวนแต่ขณะเดียวกันก็รับไม่ได้กับการใช้ความรุนแรงเด็ดขาด(แม้จะเข้าใจว่าในสถานการณ์เช่นนั้นคงเป็นภาวะที่น่าอึดอัดสำหรับความไม่รู้)

แต่ที่เสียใจที่สุดก็คือภาวะที่บางคนรายงานว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แล้วได้มีการแสดงความคิดเห็นบนเว็บบอร์ดและวิทยุจำนวนมาก ที่ชี้ให้เห็นว่า สาธารณชนไทยได้ "แสดงความระแวง เกลียดชัง และกลัวชาวมุสลิมอย่างออกนอกหน้า" รวมทั้งความเห็นที่ว่า "มุสลิมเป็นศาสนาที่นิยมความรุนแรง"
กล่าวคือ สังคมไทยได้แยกออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนระหว่างพุทธกับมุสลิม โดยที่ชาวมุสลิมทั้งหมดถูกเหมารวมอยู่ในกรอบเดียวกันหมด

สิ่งที่อึดอัดขัดข้องใจก็คือ สังคมไทยมีนักวิชาการที่รู้เรื่องมุสลิมอยู่หลายคน แต่สภาวะที่กำลังเกิดขึ้นนี้ถือว่าเป็นความล้มเหลวของนักวิชาการในการขจัดความไม่รู้เกี่ยวกับมุสลิมของสังคมไทย

คือล้มเหลวที่จะชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายที่ปรากฏอยู่ในชาวมุสลิม

ล้มเหลวที่จะแสดงให้เห็นว่าในบรรดาชาวมุสลิมที่เรียกกันว่ากลุ่มมุสลิมสมัยใหม่(Modernist Muslim) ที่หันกลับไปหาพระคัมภีร์และมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสร้างเทวรัฐอิสลามแบบสุดโต่ง ไม่ประนีประนอมนั้น เป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งในบรรดาชาวมุสลิมสมัยใหม่ด้วยกันแ

ละมีชาวมุสลิมอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ที่ยึดหลักสายกลาง และพยายามปรับเอาหลักอิสลามมาใช้กับโลกยุคปัจจุบัน รวมทั้งอาจต่อต้านการนำหลักกฎหมายในศตวรรษที่ 7 มาบังคับใช้กับโลกในศตวรรษที่ 21 แบบที่ชาวมุสลิมบางกลุ่มนิยม เช่น กรณีของรัฐบาลทาลีบันในอัฟกานิสถาน และล้มเหลวในการแสดงจุดยืนให้สังคมไทยเห็นว่ามีมุสลิมอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางสุดโต่ง

ผู้เขียนเชื่อว่า ความล้มเหลวดังกล่าวของคนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมุสลิมหรืออิสลามที่ "สาธารณชนเบาปัญญา" ชาวไทยพร้อมจะรับฟัง ความเงียบดังกล่าวจึงทำให้คนไทยส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ในความมืดมนของความไม่รู้และแปรสภาพกลายเป็นความหวาดระแวง หรือกลัวชาวมุสลิมอย่างออกนอกหน้า

ผู้เขียนมีครูอาจารย์และเพื่อนเป็นชาวมุสลิมอยู่หลายคน มีทั้งเรื่องที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ไม่อยากให้คนเหล่านั้นถูกเหมารวมอยู่ในเข่งเดียวกันทั้งหมด และก็รู้สึกเสียใจที่คนที่ควรรู้กลับไม่พูดหรือพูดไม่ทั้งหมด จนดูเหมือนชาวมุสลิมคิดเหมือนกันทั้งหมด หรือยอมรับการตีความบางอย่างเป็นเอกฉันท์ร่วมกันทั้งหมด ซึ่งไม่น่าจะเป็นท่าทีที่ถูกต้องนัก

และรวมทั้งทำให้ล่อแหลมต่อการให้ความชอบธรรมกับการใช้รุนแรง หรือการกระทำบางอย่างราวกับว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ร่วมกันในหมู่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่

ตัวอย่างอันหนึ่งในกรณีปัตตานีก็คือ สิ่งที่ปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ ที่อธิบายการกระทำของมุสลิมกลุ่มนี้ว่าเป็นปฏิบัติการในทางศาสนา คือเป็นการทำจีฮัดหรือสงครามศักดิ์สิทธิ์ และศพที่ญาติพี่น้องฝังโดยไม่อาบน้ำศพ แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านมองว่าคนเหล่านี้คือ "ซาหีด" หรือ "ผู้ที่ถูกฆ่าตายในสมรภูมิศาสนาด้วยน้ำมือของพวกต่างศาสนิก"

ผู้เขียนเข้าใจว่าชาวมุสลิมหลายคนที่รู้จักก็ทราบดีว่าการทำจีฮัดนั้นต้องประกอบด้วยกฎเกณฑ์บางอย่างที่ต้องปฏิบัติ ไม่ใช่อยู่ๆ จะลุกไปฆ่าใครที่อยู่นอกศาสนาอิสลามก็ถือเป็นจีฮัด เช่น ห้ามฆ่าผู้หญิง เด็ก และคนชรา เว้นแต่ว่าคนเหล่านี้โจมตีก่อน(น่าจะรวมถึงห้ามสังหารผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้เขียนตีความเอาเองว่าน่าจะหมายถึงคนที่ไม่ใช่นักรบ พวกพ่อค้า นักเดินทาง เป็นต้น), ห้ามทรมานและทำให้นักโทษพิการ ต้องประกาศเตือนล่วงหน้าการเข้าตี รวมทั้งนักกฎหมายอิสลามในยุคกลางก็มีความพยายามถกเถียงกันในเรื่องอาวุธและวิธีการในการฆ่าว่าอะไรรับได้หรือรับไม่ได้ เพื่อจำกัดกรอบความบาดเจ็บล้มตายของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด

นอกจากนั้น มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างนักรบมุสลิมที่ถูกศัตรูฆ่าตายในสงครามจีฮัด กับคนมุสลิมที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง(เช่น ทนความเจ็บปวดไม่ได้) โดยไม่ได้ถูกศัตรูฆ่าคือฝ่ายแรกจะได้ขึ้นสวรรค์ แต่ฝ่ายหลังนั้นต้องตกนรกสถานเดียว

แต่ไม่ทราบว่า การตีความจีฮัดที่มีอิทธิพลอยู่ในภาคใต้ของไทยเป็นอย่างไร แต่ที่ปรากฏอยู่ในสื่อและความรับรู้โดยทั่วไปในขณะนี้ว่า คนที่ตายเป็น "ซาหีด" นั้นได้เป็นสัญญาณเตือนอะไรบางอย่าง ซึ่งกลัวว่าการพูดเช่นนั้นคือการประทับตราให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง ว่าเป็นการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์และส่งสัญญาณการตีความดังกล่าวออกไปอย่างกว้างขวางให้แก่ชาวมุสลิม และสัญญาณดังกล่าวสำหรับคนไทยโดยทั่วไป ก็เท่ากับเพิ่มความหวาดกลัว หวาดระแวงยิ่งขึ้นไปอีก(แต่ไม่ว่าคนที่ตายเหล่านี้จะเป็น "ซาหีด" หรือไม่ก็ตาม ผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา)

ดังนั้น ไม่ว่าจะตรงกับความตั้งใจของผู้พูดหรือไม่ก็ตาม แต่การพูดเช่นนั้นในบริบทที่สังคมไทยมองภาคชาวมุสลิมเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อเดิมเรื่องอิสลามกับการใช้ความรุนแรง และเป็นเครื่องมือให้ชาวมุสลิมบางกลุ่มที่นิยมใช้ความรุนแรงนำการตีความเช่นนี้มาใช้อ้างความชอบธรรมการกระทำของตัวมากกว่าที่ผู้พูดตั้งใจ

ทั้งยังเป็นการตอกย้ำความรุนแรงให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งที่ยังไม่มีใครสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าจะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นได้อย่างไร?

ฉะนั้นผู้เขียนเข้าใจว่า สิ่งที่จะเยียวยาความคลางแคลงใจระหว่างคนไทยด้วยกันนั้น คนที่พูดได้ดีที่สุดคือนักวิชาการมุสลิมด้วยกันเอง ที่จะต้องออกมาแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่า การก่อวินาศกรรมในสหรัฐ บาหลี ตุรกี สเปน และการเข่นฆ่าผู้คนแบบไม่เฉพาะเจาะจงในภาคใต้ของไทยนั้น จะนับเป็นส่วนหนึ่งของการทำจีฮัดหรือสงครามศักดิ์สิทธิ์ได้หรือไม่?

หรือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามหลักศาสนา(อย่างน้อยก็ตามจารีตการตีความหลักกฎหมายอิสลามของคนพูด)?

แม้ว่าการท้าทายตั้งคำถามเช่นนี้ในด้านหนึ่งอาจต้องเสี่ยงกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะช่วยปกป้องชาวมุสลิมจำนวนมากที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง ซึ่งกำลังตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความขัดแย้งแบ่งขั้วกันอย่างรุนแรงในขณะนี้

หากพิจารณาให้กว้างกว่านั้น กรณีของปัตตานีทำให้เห็นว่า สังคมไทยขาดแคลนความรู้เกี่ยวกับคนอื่นที่อยู่รายรอบตัวเองเพียงใด

เราไม่มีความรู้เป็นชิ้นเป็นอันเกี่ยวกับสังคมมลายู สังคมมาเลเซีย หรือสังคมอินโดนีเซีย โดยเฉพาะพัฒนาการของอิสลามในประเทศเหล่านี้ที่มีผลกระทบอย่างชัดเจนกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในภาคใต้

จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น เราจึงมองภาพสังคมมุสลิมแบบเดียวเหมือนกันหมด ตั้งแต่ตะวันออกกลาง อินโดนีเซีย มาเลเซียจน ถึงปัตตานี

เราไม่รู้ขนาดว่าต้องรอให้ฝรั่งเขียนแล้วหนังสือพิมพ์ไทยต้องไปแปลมาอีกทีว่า ปัจจุบันเรามีนักเรียนไทยไปเรียนอิสลามศึกษาอยู่ในตะวันออกกลางมากน้อยเพียงใด

เราไม่รู้ว่าปัจจุบันมีนักเรียนไทยจากภาคใต้ไปเรียนหนังสืออยู่ในปอเนาะหรือเปสันเตร็นของอินโดนีเซียจำนวนเท่าไร เรียนอยู่ที่ไหน หรือเรียนอะไรกัน?

เราไม่รู้แม้กระทั่ง เช่น อาจมีนักเรียนไทยอยู่ในเปสันเตร็นของอาบู บากัร ในชวากลาง

เราไม่รู้ว่าพัฒนาการต่างๆ เหล่านี้จะเข้ามากระทบกับเราอย่างไร?

แต่เห็นอยู่ชัดๆ ว่า สิ่งเหล่านี้มันเข้ามายุ่งเกี่ยวพัวพันอยู่กับชีวิตของเรา แต่แม้ว่าเราจะเห็นได้ชัดขนาดนี้ ผู้เขียนก็ยังสงสัยว่าสังคมไทยจะหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย มากพอกับความสำคัญที่ความรู้เกี่ยวกับสังคมเพื่อนบ้านของเราเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับความผันแปรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

ผู้เขียนไม่ได้เรียกร้องให้สังคมไทยเปลี่ยนสีปรับตัวเป็นเหมือนตุ๊กแก แต่ความรู้เกี่ยวกับสังคมเพื่อนบ้านจะทำให้เรารู้สึกแปลกหน้า หวาดระแวง หรือหวาดกลัวพวกเขาน้อยลง รวมทั้งทำให้สายตาของเรามองเห็นถึงสีสันอื่นๆ นอกจากความมืดอันพร่ามัว และความหวาดระแวงระหว่างกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในภาคใต้

No comments: