Wednesday, January 04, 2012

New Poster

รายการสัมมนา

รายการสัมมนา

สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย:

การค้นหาประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมปาตานี

27 มกราคม 2555

08.30 – 09.00 ลงทะเบียน

09.00 – 09.30 พิธีเปิด

คำกล่าวเปิด: Kim McQuay (ผู้แทนมูลนิธิเอเซีย ประเทศไทย)

คำกล่าวต้อนรับ: ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.)

09.30 – 10.30 ปาฐกถานำ

-ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ • มัสยิด “แดง”: ทอนความรุนแรงต่อพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ในสังคมมนุษย์

10.30 – 12.00 เส้นทางแห่งความทันสมัยและการตีความ

-พุทธพล มงคลวรวรรณ • ปาตานีผ่านแว่นของจักรวรรดิและดวงตาสมัยใหม่: การสำรวจทางมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในรัฐมลายูของสยาม ค.ศ.1899–1900

-นิยม กาเซ็ง • เส้นทางสู่ความทันสมัย: ประวัติศาสตร์สังคมของถนนทางหลวงสายใหม่สู่ ปาตานี

-มูฮัมหมัด อิลยาส หญ้าปรัง • การตีความความเป็นสมัยใหม่: ต่วนกูรู อิสมาแอล สะปันยัง (2498 - ) อูลามาอ์สายจารีตในสังคมปาตานีสมัยใหม่

-ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร • ดำเนินรายการและวิจารณ์

12.00 – 13.00 รับประทานอาหารกลางวัน

13.00 – 14.30 พันธสัญญาแห่งความทันสมัยและการต่อรอง

-ทวีลักษณ์ พลราชม และวารชา การวินพฤฒ • ณ ระหว่างพื้นที่: ประสบการณ์ || อัตลักษณ์ || มุสลิมมะฮฺปัตตานีบนเส้นทางการศึกษาสมัยใหม่

-อสมา มังกรชัย • ตำรวจมลายู: ลูกผสมของความเป็นสมัยใหม่แบบอาณานิคม ประวัติศาสตร์บาดแผล และความรุนแรง

-บัณฑิต ไกรวิจิตร • พิธีกรรมและศิลปะการละเล่นพื้นบ้านมลายูปาตานี: วัฒนธรรมลูกผสมกับสภาวะความ เป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย

-ผศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ • ดำเนินรายการและวิจารณ์

15.00 – 15.30 รับประทานอาหารว่าง

15.30 – 17.00 วรสารแห่งความทันสมัย

-สะรอนี ดือเระ • เสียงเพรียกใหม่: นิตยสารอาซานและกลุ่มปัญญาชนใหม่ในปาตานีกลาง ทศวรรษ 2510

-ปิยะนันท์ นิภานันท์ • ความทันสมัยในภาพเรืองแสง: ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ของโรงภาพยนตร์ในสังคมปาตานี

-บัญชา ราชมณี • โมเดิร์นดิเกมิวสิค: อุตสาหกรรมดนตรีและพัฒนาการของสื่อ บันเทิงในปาตานี

-ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ • ดำเนินรายการและวิจารณ์

28 มกราคม 2555

09.00 – 09.30 ลงทะเบียน

09.30 – 10.30 ปาฐกถานำ

-Dr. Patrick Jory • Problems of Modernity in Patani and Thailand: The Emergence of “the People” in Patani’s Past and Present

10.30 – 12.00 อาการของความเป็นสมัยใหม่

-ภมรี สุรเกียรติ • เปลี่ยน ‘ป่าดิบ’ ให้เป็น ‘บ้าน’: ชุมชนในฝัน ณ ทัณฑนิคมธารโต พ.ศ.2478-2500

-เจริญพงศ์ พรหมศร • กองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย: เรื่องเล่าที่หายไปในความ สัมพันธ์ระหว่าง พคท. และองค์กรติดอาวุธมลายู

-ดร.ธนาพล ลิ่มอภิชาต • ดำเนินรายการและวิจารณ์

12.00 – 13.00 รับประทานอาหารกลางวัน

13.00 – 15.00 การประกอบสร้างอัตลักษณ์ความ เป็นมลายูปาตานี

-โชคชัย วงษ์ตานี • มลายูบางกอก / นายูบาเกาะฮ: การผจญภัยในแผ่นดินสยาม

-อลิสา หะสาเมาะ • ประวัติศาสตร์สังคมหน้าใหม่ของฟาตอนี: เรื่องเล่าจากวงศาคณาญาติ ‘หะสาเมาะ’

-นิอับดุลรากิบ บินนิฮัสซัน • ตระกูลฮัดรามีแห่งมัสยิดตะโละมาเนาะ: บทบาทและ เครือข่ายทางสังคมในนราธิวาส

-วราวรรณ ตระกูลสรณคมณ์ • มัสยิดตะโละมาเนาะ: การประดิษฐ์สร้างมรดกทางวัฒนธรรมมลายูปาตานี

-รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ • ดำเนินรายการและวิจารณ์

13.00 – 14.30 สำเนียงจากชายขอบ

ซะการีย์ยา อมตยา • โกสินทร์ ขาวงาม • กฤช เหลือลมัย

14.30 – 15.00 รับประทานอาหารว่าง

15.00 – 16.00 วิพากษ์โครงการ

Prof. Dr. Craig J. Reynolds (Australian National University)

16.00 – 16.30 คำกล่าวปิด

Dr. James R. Klein (อดีตผู้แทนมูลนิธิเอเซีย ประเทศไทย)

Tuesday, July 26, 2011

บทความของนูรโชลิช มัดจิด (Nurcholish Madjid): เอาอิสลาม แต่ไม่เอาพรรคมุสลิม!

บทความที่ได้รับการอ้างถึงอย่างกว้างขวางชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ.1970 เนื้อหาที่ปรากฏในเอกสารนี้ ตัดมาเพียงบางส่วนเท่านั้น...

ความจริงอันน่าพึงใจเกี่ยวกับอิสลามในอินโดนีเซียร่วมสมัยอย่างหนึ่ง คือ พัฒนาการอย่างรวดเร็วของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องปริมาณผู้นับถือศาสนาอิสลาม อย่างน้อยก็ในด้านที่เป็นทางการ ภูมิภาคซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เป็นที่คุ้นเคยกับศาสนาอิสลาม ถึงตอนนี้ก็เริ่มคุ้นเคยแล้ว จนถึงขนาดที่ว่า ศาสนาอิสลามได้กลายเป็นศาสนาหลักของผู้คนที่อยู่อาศัย พร้อมด้วยศาสนาอื่นๆ ที่ตั้งมั่นอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนั้น ยังมีความสนใจต่อศาสนาอิสลามเพิ่มยิ่งขึ้นในหมู่ชนชั้นสูงทางสังคม อย่างน้อยก็ในด้านการแสดงออกที่เป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นคำถามที่เปิดกว้างอยู่ว่า พัฒนาการในเรื่องผลจากความดึงดูดใจต่อความคิดเกี่ยวกับศาสนาอิสลามดังที่ถูกนำเสนออยู่โดยหัวขบวนนำเหล่านี้จะไปไกลแค่ไหน เป็นไปได้ไหมที่พัฒนาการในเชิงปริมาณที่ว่านี้ของอิสลามจึงจะไม่ถูกตัดสินว่าไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าเครื่องชี้วัดในเรื่องการปรับตัวทางสังคม เพื่อตอบสนองต่อพัฒนาการทางการเมืองล่าสุดในอินโดนีเซีย คือ ความพ่ายแพ้ของคอมมิวนิสต์ อันส่งผลให้รู้สึกว่าเป็นชัยชนะของอิสลาม? (เราควรระลึกไว้ด้วยว่า การปรับตัวทางสังคมที่ว่านั้น ยังเกิดขึ้นในช่วงยุคระเบียบเก่า ด้วย ซึ่งประธานาธิบดีสุการโนมักจะแสดงความสนใจใคร่รู้อย่างยิ่งต่ออิสลาม พอๆ กับที่สนใจในลัทธิมาร์กซ์ อย่างไรก็ตาม เราบอกถึงแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการแสดงออกถึงความสนใจของสุการโนได้ด้วย)

คำตอบต่อคำถามที่ยกขึ้นมาเบื้องต้นนี้ อาจวางอยู่ในอีกคำถามหนึ่ง คือ ผู้คนเหล่านี้สนใจในพรรคการเมืองอิสลามหรือองค์กรอิสลามกันแค่ไหน? ยกเว้นบางคนแล้ว ค่อนข้างชัดเจนว่า พวกเขาไม่ได้สนใจต่อพรรคหรือองค์กรเช่นนั้นแม้แต่น้อย จนถึงขนาดว่า ทัศนคติของพวกเขาอาจออกมาในรูปนี้ คือ เอาอิสลาม แต่ไม่เอาพรรคอิสลาม! (Islam yes, Islamic parties no!) ถ้าพรรคการเมืองอิสลามคือเครื่องมือสำหรับความคิดอันตั้งอยู่บนหลักการอิสลาม ก็ชัดเจนอยู่ว่าไม่ค่อยมีคนสนใจต่อความคิดทำนองนั้นอีกต่อไป พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความคิดและการคิดแบบอิสลามนั้นอยู่ในกระบวนการของการกลายเป็นฟอสซิลอย่างสมบูรณ์ คือสูญเสียพลวัตไปโดยสิ้นเชิง พรรคการเมืองอิสลามจึงล้มเหลวที่จะก่อรูปภาพพจน์ในทางบวกและให้คนเห็นอกเห็นใจ และแท้จริงแล้วภาพพจน์ที่ว่านั้นก็ออกจะตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ (อีกทั้งบางภาคส่วนของชุมชนมุสลิมมีชื่อเสียงในเรื่องคอรัปชั่นอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที)

ปริมาณกับคุณภาพ

คือความจริงที่ชัดเจนโดยตัวมันเองที่ว่าคุณภาพมีความสำคัญมากกว่าปริมาณ กระนั้นก็ตาม ชุมชนมุสลิมในอินโดนีเซียกำลังใฝ่หาสิ่งที่ตรงกันข้าม คือการให้ความสำคัญต่อปริมาณเหนือคุณภาพ มันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป้าหมายของการต่อสู้ย่อมบรรลุถึงได้ดีกว่าหากดำเนินการผ่านความเป็นเอกภาพยิ่งกว่าการแตกกระจาย แต่ความเป็นเอกภาพที่ว่านี้สามารถจะหล่อหลอมขึ้นอย่างมีพลวัตและกลายเป็น

พลังที่มีพลวัตถ้าหากความคิดอันเป็นรากฐานนั้นไม่มีพลวัตได้หรือไม่? (ดังความคิดของเลนินที่ว่า ไม่มีการปฏิวัติโดยปราศจากทฤษฎีการปฏิวัติ) ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ความมีพลวัตย่อมมีผลกระทบมากกว่าความเฉื่อยชา แม้ว่าความเฉื่อยชาจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ก็ตาม ความด้านชา/อัมพาตเมื่อไม่นานมานี้ของชุมชนมุสลิม เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งในท่ามกลางสาเหตุอื่นๆ คือ มันได้ปิดตาต่อข้อบกพร่องของตัวเอง ซึ่งสามารถขจัดออกไปโดยการเคลื่อนไหวๆ ของความคิดปฏิรูป

การเปิดเสรีในยุคปัจจุบันของทัศนะต่างๆ แห่งคำสอนอิสลาม

... การฟื้นฟูอีกครั้งจะต้องดำเนินการจากการริเริ่มสองอย่างที่เกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ การปลดปล่อยตัวเองจากคุณค่าแบบจารีต ในขณะเดียวกับที่ค้นหาคุณค่าแบบที่มุ่งเน้นไปสู่อนาคต การถวิลหาอดีตจะต้องถูกแทนที่โดยวิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้า ซึ่งจำเป็นต้องใช้กระบวนเปิดเสรี คำสอนและทัศนะต่างๆ ของอิสลาม สิ่งนี้จำเป็นต้องรวมไปถึงกระบวนการอื่นๆ:

การแยกเรื่องศาสนาออกจากเรื่องทางโลกย์

การแยกเรื่องศาสนาออกจากเรื่องทางโลกย์ไม่ได้หมายถึงการประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องทางโลกย์ (secularism) เนื่องจากแนวคิดเรื่องทางโลกย์คือคำเรียกอุดมการณ์อย่างหนึ่ง อันหมายถึงโลกทัศน์ที่ปิดตัวเองชุดใหม่ที่ทำหน้าที่แทบจะเหมือนกับศาสนาใหม่ ในบริบทนี้ สิ่งที่หมายถึงการแยกเรื่องศาสนาออกจากเรื่องทางโลกย์ (secularization) คือ รูปแบบของการพัฒนาเพื่อการปลดปล่อย กระบวนการแห่งการปลดปล่อยดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากชุมชนมุสลิม -ในฐานะผลสืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ของตัวมันเอง- ไม่สามารถแยกสิ่งซึ่งอยู่เหนือกาลเทศะกับสิ่งที่อยู่ในห้วงเวลาหนึ่งๆ โดยใช้กรอบคิดของคุณค่าต่างๆ ที่ยึดถือเป็นคุณค่าแบบอิสลามได้อีกต่อไป นอกจากนี้ ลำดับชั้นของคุณค่าดังกล่าวมักจะถูกกลับหัวกลับหาง (ดังนั้น) ทุกสิ่งที่อยู่เหนือกาลเทศะจึงถูกยึดถือว่าเป็นสิ่งที่ eschatological โดยไม่มีข้อยกเว้น ขณะที่ชาวมุสลิมอาจจะไม่พูดถึงสิ่งนี้อย่างเปิดเผย และกระทั่งปฏิเสธข้อเสนอแนะดังกล่าว แต่แนวทางเช่นนี้ก็สะท้อนถึงการกระทำในกิจวัตรประจำวันของพวกเขา ผลลัพธ์ของมันจึงเป็นสิ่งที่รู้กันดี คือ อิสลามได้ถูกทำให้เท่ากับจารีต และการเป็นชนอิสลามก็มีนัยอย่างเดียวกับการเป็นนักจารีตนิยม

(ต่อ)

Wednesday, July 06, 2011

บทความเรื่อง "พลังทางศีลธรรม" ของอารีฟ บูดีมัน

อารีฟ บูดีมันเคยเปรียบเทียบขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในอินโดนีเซียกับภาพลักษณ์ของ "เชน" ในภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้ (Shane, 1953) เชนเป็นคือนักดวลปืนในภาพยนตร์คาบอยตะวันตก ผู้ซึ่งเดินจากไปอย่างสง่างามในยามอรุณรุ่งหลังจากช่วยเหลือชาวบ้านจัดการกับอันธพาลร้าย ภาพพจน์ของนักศึกษาในฐานะพลังทางศีลธรรมเช่นนี้ยังคงมีพลังอย่างมากตลอดยุคระเบียบใหม่และช่วยเปิดพื้นที่ให้แก่ขบวนการนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมือง บทความที่นำมาแปลนี้เคยได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Harian Kami ของนักศึกษาเื่มื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1971 ในชื่อว่า "คำตอบต่ออาลี ซาดิกินในเรื่องกลุ่มสีขาว (Golput - Golongan Putih)"

ผู้ว่าฯ [จาการ์ตา] อาลี ซาดิกิน ได้กล่าวว่า เนื่องจากพวกกลุ่มสีขาว (Golput – Golongan Putih) ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ของการเลือกตั้ง พวกเขาจึงได้ล้ำเส้นและได้ทำให้กลายเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว... ในฐานะที่เป็นนักศีลธรรมที่บริสุทธิ์ พวกเขาควรจะเก็บความคิดเหล่านั้นไว้กับตนเองและไม่ควรพยายามแพร่กระจายความคิดเหล่านั้นหรืออิทธิพลอื่นๆ.... การเมืองมักจะเป็นเกมที่สกปรกและรุนแรง เต็มไปด้วยกลอุบายและการเล่นสกปรก นี่คือคำพูดต่างๆ ของอาลี ซาดิกินที่มีการรายงานไว้

ตรงนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประการ คือ

1.แท้จริงแล้ว กลุ่มสีขาวเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเปล่า? ข้าพเจ้าจะขอเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยสุการโนให้ฟัง ในขณะนั้น รัฐบาลสุการโนกำลังยุ่งอยู่กับการผนวกรวม กลุ่มพลังใหม่ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งประดิษฐ์สร้างสำหรับเรื่องนี้ คือ Conefo [Conference of the New Emerging Forces - การสัมมนากลุ่มพลังใหม่] กำลังอยู่ในกระบวนการจัดสร้าง ประชาชนถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลาให้พูดถึงหลักการ Nasakom, เครื่องรางห้าประการแห่งการปฏิวัติ Panca Azimat Reolusi -Five Talismans of the Revolution] และอะไรทำนองนั้น เศรษฐกิจถูกทอดทิ้งโดยสิ้นเชิงจนถึงระดับที่ว่าผู้คนไม่สามารถซื้อหาข้าวกินได้อีกต่อไป วันหนึ่งสามัญชนผู้หนึ่งได้กล่าวว่า ท่านครับ ผมหิว ผมไม่สามารถใช้เวลาไปกับการชุมนุมทางการเมือง ผมอยากจะกิน โดยปราศจากการตั้งคำถามตรวจสอบ ชายผู้นี้ก็ถูกจับกุมตัวในข้อหาสมคบคิดทางการเมือง หรือหากพูดให้จำเพาะเจาะจงลงไปก็คือ การเมืองในการต่อต้านรัฐบาล

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงนั้น คือการเมืองในอินโดนีเซียกำลังเดินเครื่องเกินกำลังก้าวล่วงแทรกซึมไปจนถึงทุกแง่มุมของชีวิต เมื่อไรก็ตามที่คนกล่าวถึงอะไรบางอย่าง มันมักจะก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมืองตามมา การเมืองได้เข้าควบคุมยึดครองเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง

สภาพเช่นนี้ก็ยังดำรงอยู่ ผู้คนถูกบีบให้ออกเสียงบนพื้นฐานของกฎ/คำสั่งทางศาสนา การข่มขู่ให้ออกจากงาน หรือผ่านกำลังอาวุธ คนธรรมดาทั่วไปซึ่งมองเห็นสิ่งเหล่านี้กล่าวว่า พ่อแม่พี่น้องเอ๋ย โปรดอย่าระรานเราเลย โปรดสงสารคนยากจนที่ถูกผลักไปมาอยู่ตลอดเวลา แล้วพวกคนพาลก็จะตอบโต้อย่างโกรธเคืองว่า อ๋อ เอ็งอยากถูกการเมืองเล่นงานหรือ? และคนธรรมดาสามัญที่ว่านี้คือพวกเรากลุ่มสีขาวนี่เอง

2.พวกนักศีลธรรมสามารถรณรงค์บนพื้นฐานของศีลธรรมแห่งตนเท่านั้นไม่ได้หรือ? ข้าพเจ้าคิดว่า มันผิดศีลธรรมถ้าหากนักศีลธรรมไม่พยายามจะส่งเสริมความคิดทางศีลธรรมของตน แท้จริงแล้ว ชั่วขณะที่นักศีลธรรมหยุดรณรงค์ เขาก็ไม่ได้เป็นนักศีลธรรมอีกต่อไป แต่คือคนที่เห็นแก่ตัว

ความจริงที่ว่า นักศีลธรรมมีส่วนร่วมในการรณรงค์นั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาได้ ล้ำเส้น และเข้าไปพัวพันกับการเมืองแต่อย่างใด มันอาจจะจริงที่ว่า การรณรงค์ของนักศีลธรรมได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่การเมืองได้ถูกแยกทางจากศีลธรรม ถ้านักศีลธรรมผู้รณรงค์ให้ทัศนะของตนคือนักการเมืองทั้งหมดแล้ว พระพุทธเจ้า พระเยซู ศาสดามูฮัมหมัด กฤษณมูรติ และเบอร์ทรันด์ รัสเซล จะต้องเป็นนักการเมืองครั้งใหญ่กันทุกคนด้วยเช่นกัน

3.การเมืองมักจะต้องเต็มไปด้วยกลอุบายและเกมสกปรกจริงหรือ? นั่นถือวิถีทางที่จะปรากฏขึ้นถ้าคุณมองที่การเมืองอินโดนีเซียในทุกวันนี้ แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น แท้จริงกลุ่มสีขาวต้องการสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ดี ตัวอย่างเช่น โดยการสร้างหลักการพื้นฐานที่ดีและการมีคนกลางที่ตัดสินอย่างยุติธรรม พลโทอาลี ซาดิกินเคยเป็นนายทหารที่ซื่อตรง เมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก เขาอาจจะถึงกับตะลึงงันที่ได้พบเห็นว่า เกมการเมืองที่เล่นกันนั้นมันสกปรกยังไง ทั้งโดยพรรคการเมืองและโดยกลุ่มสหชีพเอง ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อผู้ว่าฯ อาลี ซาดิกินพูดว่า การเมืองคือเกมสกปรก นั้น ท่านคงจะยังไม่ได้ถึงสิ้นความหวัง ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ อาลี ซาดิกินเข้าร่วมกับกลุ่มยุวชนที่ต้องการจะเห็นการเมืองใหม่ที่สะอาดขึ้น โดยมาต่อสู้ร่วมกับกลุ่มสีขาว

Tuesday, June 21, 2011

ปาฐกถาของพลเอกสุฮารโต เรื่อง “ประชาธิปไตยแบบปัญจะศีล”

เอกสารชิ้นนี้คือปาฐกถาที่มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีสุฮารโตต่อสภาที่ปรึกษาประชาชนชั่วคราวเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1967 ก่อนถึงวันครบรอบการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย โดยในขณะนั้นพลเอกสุฮารโตกำลังดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี

เป้าหมายของ “ยุคระเบียบใหม่” คือ ทำให้การนำหลักปัญจศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 ไปปฏิบัติเป็นไปด้วยความมั่นคงและบริสุทธิ์ ประชาชนอินโดนีเซียทุกคน องค์กรทุกองค์กร การประกอบการธุรกิจทุกประเภท ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุคระเบียบใหม่จะต้องยอมรับรากฐานสองประการคือ หลักปัญจศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 อีกทั้งไม่ใช่เพียงแค่ยอมรับเท่านั้น หากจะต้องนำไปปรับใช้และทำให้ปรากฏเป็นจริงในรูปแบบอันถูกต้อง เที่ยงตรงและบริสุทธิ์เท่าที่จะกระทำได้โดยสอดคล้องกับจิตวิญญาณและพลังอันเข้มแข็งของมัน

ดังนั้นยุคระเบียบใหม่จึงมิได้เป็นอะไรน้อยไปกว่าระบบชีวิตทั้งหมดของประชาชน ชาติ และประเทศที่ได้เดินกลับไปสู่การนำหลักปัญจศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 มาปฏิบัติใช้อย่างบริสุทธิ์ เราขอเน้นย้ำคำว่า “เดินกลับไปสู่” เนื่องจากยุคระเบียบใหม่ถือกำเนิดและเติบโตขึ้นในฐานะปฏิกิริยาต่อและการแก้ไขรูปแบบอันเบี่ยงเบนและการคอรัปชั่นทุกชนิดประเภทที่เคยดำเนินไปโดยสิ่งที่รู้จักกันในฐานะที่เป็นยุคระเบียบเก่าให้กลับมาถูกต้องทั้งหมด

การบิดเบือนหลักการปัญจศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 ในช่วงยุคระเบียบเก่าได้ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาลึกซึ้งและกว้างขวาง ทั้งในความเป็นจริงแล้ว ยังได้ทำลายเลือดชีวิตของชาติและประเทศ

หลักปัญจศีลถูกบิดเบือนด้วยการถือกำเนิดของหลัก Nasakom [ความเอกภาพของลัทธิชาตินิยม ศาสนาอิสลาม และลัทธิคอมมิวนิสม์] อันเป็นแนวคิดที่พยายามรวมเอาลัทธิคอมมิวนิสม์เข้ามาปฏิบัติร่วมกับหลักปัญจศีล ลัทธิคอมมิวนิสม์ซึ่งวางอยู่บนวิธีคิดแบบวัตถุนิยมวิวาทวิธี (dialectical materialism) นั้นแท้จริงแล้วต่อต้านพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่หลักปัญจศีลประกาศถึงความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าอันยิ่งใหญ่ ศาสนาจึงถูกนำมาบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

หลักการแห่งความยุติธรรมและมนุษยชาติที่เจริญแล้วถูกเพิกเฉย สิทธิมนุษยชนทั้งมวลมลายหายไป เนื่องจากทุกอย่างถูกกำหนดตัดสินใจโดยเจตจำนงของผู้ปกครองเท่านั้น การประกันคุ้มครองและการปกป้องทางกฎหมายไม่อาจปรากฏได้ในทางปฏิบัติ สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจาก ไม่ว่าเราจะสำนึกหรือไม่ก็ตาม พวกเราตกเป็นเหยื่อในยุทธศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ซึ่งยอมรับหลักการปัญจศีลเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการยึดครองอำนาจภายในกรอบของลัทธิคอมมิวนิสม์สากล

หลักการของความเป็นชาติและเอกภาพได้ถูกทำให้เจือจางลงเนื่องจากมีบางกลุ่มจงรักภักดีต่ออุดมการณ์อย่างอื่น พลังเข้มแข็งของเอกภาพถูกสั่นคลอนไปเนื่องจากลัทธิคำสอนเรื่องหลักความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้น

ทั้งหมดนี้ย่อมให้พื้นที่แก่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) ใช้ในการสร้างความนิยมให้แก่ตนเอง ราวกับว่าเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวและเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนที่แท้จริง

ประชาชาติอินโดนีเซียไม่ได้รับรอง/รู้เรื่องชนชั้น เพราะจากเราไม่ได้และจะไม่มีทางแบ่งแยกกันด้วยชนชั้น

หลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนถูกทำให้คลุมเครือ สิ่งที่ดำรงอยู่คือ “อำนาจอธิปไตย” ของผู้นำ

หลักการเรื่องความยุติธรรมทางสังคมก็ยิ่งถูกทำให้มีความสำคัญน้อยลง เนื่องจากความมั่งคั่งของชาติถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและเพื่อโครงการอันทรงเกียรติที่ทำลายเศรษฐกิจของประชาชนและประชาชาติ ระบบของ “เศรษฐกิจแบบชี้” (guided economy) โดยปฏิบัติแล้วได้กลายเป็น “ระบบใบอนุญาต” (system of licenses) ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้คนเพียงหยิบมือหนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ถือครองอำนาจ

การบิดเบือนรัฐธรรมนูญปี ค.ศ.1945 อย่างร้ายแรงนั้นคือการหยิบยื่นอำนาจอย่างไร้ข้อจำกัดให้อยู่ในมือของคนเพียงคนเดียว คือประมุขของรัฐ หลักการและรากฐานของการเป็นรัฐที่ปกครองด้วยระบอบรัฐธรรมนูญค่อยๆ ถูกละทิ้งไว้เบื้องหลัง จนกระทั่งในท้ายที่สุดเราได้กลายเป็นประชาชาติที่ตั้งอยู่บนอำนาจ หลักการและรากฐานของระบบรัฐธรรมนูญจึงได้กลายเป็นระบบเผด็จอำนาจเบ็ดเสร็จโดยธรรมชาติ อำนาจสูงสุดของรัฐจึงไม่ได้อยู่ในมือของสภาที่ปรึกษาประชาชนชั่วคราว (MPRS) แต่กลับอยู่ในมือของท่านผู้นำที่ยิ่งใหญ่แห่งการปฏิวัติ ประธานาธิบดีจึงไม่ได้ยอมตนต่อสภาที่ปรึกษาประชาชนชั่วคราว ในทางตรงกันข้ามสภาที่ปรึกษาประชาชนชั่วคราวต่างหากที่จะต้องยอมตนต่อประธานาธิบดี

แท้จริงแล้ว นับเป็นโศกนาฏกรรมของประชาชนและประชาชาติอินโดนีเซียเมื่อพวกเขาให้การสนับสนุน “คำสั่งให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญ ปี ค.ศ.1945” เมื่อปี ค.ศ.1959 โดยเต็มไปด้วยความหวัง ซึ่งกลับทำให้ผลักไสประชาชาติเข้าไปสู่ความเจ็บปวดทั้งภายนอกและภายใน อันบรรลุถึงจุดแตกปะทุในการลุกฮือของขบวนการเคลื่อนไหวพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเมื่อวันที่ 30 กันยายน....

ประชาธิปไตยซึ่งเราธำรงชีพอยู่ได้คือประชาธิปไตยแบบปัญจะศีล (Pancasila democracy) ซึ่งขนบและกฎหมายพื้นฐานได้ถูกกำหนดวางไว้ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 ประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลหมายถึง “ประชาธิปไตย” อันคือหลักการในเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนซึ่งได้รับแรงบันดาลใจโดยและบูรณาการเข้ากับหลักการปัญจะศีลข้ออื่นๆ สิ่งนี้หมายความว่า ในการใช้สิทธิประชาธิปไตยของเรานั้น เราจะต้องธำรงรักษาสำนึกรับผิดชอบต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าตามหลักการศาสนาที่เรายึดถือ ให้คุณค่าอย่างสูงต่อความเป็นมนุษย์ตามหลักคุณค่าและเกียรติศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างความเข้มแข็งและรับประกันต่อความเป็นเอกภาพของชาติ และให้โอกาสแก่การบรรลุถึงความยุติธรรมทางสังคม ระบอบประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลที่ว่านี้มีรากกำเนิดจากการตระหนักถึงคุณค่าของครอบครัวและความร่วมมือแก่กันและกัน

เนื่องจากรากกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลนั้นสามารถพบได้ในคุณค่าของครอบครัวและความร่วมมือแก่กันและกัน แต่หาได้ยอมรับในเรื่องอำนาจสมบูรณ์เบ็ดเสร็จของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอันเนื่องจากความเข้มแข็งทางสรีระ อำนาจทางเศรษฐกิจ สิทธิอำนาจ หรือเสียงอื่นๆ

ระบอบประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลจะต้องไม่ถูกกำกับให้เดินไปสู่การมุ่งประโยชน์ส่วนตนหรือของกลุ่มตน หรือนำไปใช้ในการทำลายล้ายกลุ่มอื่นๆ ตราบเท่าที่กลุ่มอื่นๆ เหล่านั้นคือพลเมืองของ “ระบอบปกครองแบบระเบียบใหม่” (New Order) หรือทำลายหลักปัญจะศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 โดยแท้จริงแล้ว รากฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลได้ถูกรับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วโดยการรวมของผู้คนทุกกลุ่มที่สนใจต่อชีวิตของรัฐและสังคมผ่านกระบวนการตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์....

ดังนั้น จึงมีความชัดเจนว่าประธานาธิบดีในฐานะที่เป็นหัวหน้าของรัฐบาล และสภาที่ปรึกษาประชาชนในฐานะที่เป็นผู้คอยกำกับดูแลในเชิงสถาบัน จะต้องทำงานร่วมกันในระดับวันต่อวันโดยให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 แท้จริงแล้ว กลุ่มต่อต้านดังที่พบได้ในระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมนั้นย่อมเป็นสิ่งแปลกปลอมในชีวิตของระบอบประชาธิปไตยแบบปัญจะศีล ระบอบประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลจะรับรองได้แค่การตัดสินใจแบบเอกฉันท์ผ่านทางผู้แทนในสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาที่ปรึกษาประชาชนเท่านั้น ในเรื่องนี้จำเป็นที่เราต้องตระหนักว่าระบบของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 นั้นกำหนดให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในรัฐบาลอย่างเต็มรูปและมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสภาที่ปรึกษาประชาชน ในขณะที่รัฐมนตรีแห่งรัฐต่างๆ เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่รับใช้ต่อประธานาธิบดีหรือต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประธานาธิบดีเท่านั้น...

ในประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลนั้น การนำหลักสิทธิมนุษยชนไปปรับใช้นั้นจะได้รับการประกันอย่างคงเส้นคงวาภายใต้ขอบเขตที่กำหนดไว้โดยหลักปัญจะศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 ผลก็คือ ชีวิตระบบพรรคการเมืองจะได้รับการประกันเพื่อที่จะเอื้อให้เกิดกลไกที่ดีและสร้างสรรค์สำหรับสิทธิของประชาชนในการที่จะจัดตั้ง เข้าร่วม และแสดงความคิดเห็นหรือจุดยืนทางการเมืองของตน พรรคการเมืองจะทำให้หลักการ “ปกครองโดยประชาชนซึ่งนำพากันภูมิปัญญาอันเกิดจากการใคร่ครวญและการมีตัวแทน” เกิดขึ้นได้ดังที่กำหนดไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 ในฐานะเครื่องมือของระบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองจะต้องผูกพันโดยความรับผิดชอบต่างๆ ชุดหนึ่งดังที่ได้กล่าวไปแล้วในเบื้องต้น

กฎเกณฑ์ที่ควบคุมองค์กรภายในของพรรคและความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองจะต้องวางอยู่บนหลักการแห่งครอบครัว ณ จุดนี้ เราหวังจะเน้นให้เห็นว่า เป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ในการที่จะมุ่งเน้นในเรื่องปัญหาทางอุดมการณ์มากจนเกินไป ชาติของเราได้ประโยชน์น้อยมากจากความขัดแย้งที่ต่อสู้กันอยู่นับตั้งแต่เราได้สถาปนาหลักปัญจะศีลขึ้นเป็นหลักปรัชญาแห่งชีวิต อันเป็นอุดมการณ์ร่วมของเรา และเป็นอุดมการณ์ของทุกพรรคการเมืองและทุกองค์กรต่างๆ การแบ่งพรรคแบ่งกลุ่มออกเป็นขั้วๆ ของพรรคการเมืองในแบบเก่าจะต้องถูกโล๊ะทิ้งไปเนื่องจากมันนำไปสู่การทำให้ความแตกต่างทางอุดมการณ์มีความแหลมคมยิ่งขึ้นอันยังผลให้เกิดเป็นความขัดแย้งและความระแวงสงสัย

ถ้าหากยังมีการแบ่งกันเป็นกลุ่มชาตินิยม ศาสนาและสังคมนิคมแบบปัญจะศีลในสถาบันผู้แทนราษฎร ก็คงเพียงเพื่อผลประโยชน์ในการกำหนดแนวกระแสความคิดและทำให้ง่ายขึ้นต่อการคิดใคร่ครวญเพื่อบรรลุถึงความเป็นเอกฉันท์บางอย่าง จึงไม่มีความตั้งใจใดๆ ที่จะบ่งบอกถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่มเหล่านี้หรืออุดมการณ์ทางการเมืองของกลุ่มเหล่านี้ เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้ (กลุ่มในครอบครัวระเบียบใหม่) ไม่มีความแตกต่างกันในทางอุดมการณ์ เพียงแต่แตกต่างกันในเรื่องลำดับความสำคัญในโครงการต่อสู้ของพวกเขา อันเป็นแผนโครงการที่จะทำให้ความเป็นเอกราชมีเนื้อหาที่จับต้องได้และทำให้ประเด็นแง่มุมต่างๆ ของหลักปัญจะศีลกับรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง....

มติของสภาที่ปรึกษาประชาชน เลขที่ XXII[1966] เน้นให้เห็นว่า พรรค องค์กรมวลชน และกลุ่มอาชีพจะต้องเคลื่อนไปสู่การลดความซับซ้อนของตนลง อันนี้หมายความว่า โดยแก่นแท้แล้ว สิ่งที่เราจะต้องหลีกเลี่ยงการเพิ่มจำนวนของพรรคการเมือง เว้นแต่มีความจำเป็นจะต้องกำหนดให้หน้าที่และภารกิจของพรรคการเมืองเดินอยู่ในแถว เพื่อประโยชน์ของประชาธิปไตยและความผาสุกของประชาชน

บนพื้นฐานของความคิดอันเกี่ยวกับแก่นแท้ของประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลและหน้ากับภารกิจของพรรคการเมือง รัฐบาลกำลังมีนโยบายที่จะให้มีพรรคการเมืองขึ้นอีกพรรคหนึ่ง ประเด็นนี้กำลังเป็นเรื่องถกเถียงอภิปรายกันอย่างมากในหมู่สาธารณชน การปรากฏขึ้นของพรรคดังกล่าวไม่จำเป็นต้องขัดแย้งต่อและทั้งยังสามารถมีความชอบธรรมได้จากหลักการในเรื่องทำให้ทุกอย่างขึ้นเกี่ยวกับพรรคการเมืองและองค์กรมวลชน ตอนนี้มีองค์กรอิสลามจำนวนมากที่ไม่ได้รวมกันอยู่ในพรรคอิสลาม พวกเขารู้สึกว่า พวกเขายังไม่ส่งสัญญาณทางการเมืองของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเป้าหมายที่ว่า แนวคิดในเรื่องการตั้งพรรคการเมืองอิสลามขึ้นใหม่ เพื่อให้สามารถรวบรวม กำกับและรวมองค์กรอิสลามที่ไม่ใช่พรรคการเมืองทุกองค์กรเข้าด้วยกัน จึงควรได้รับการเคารพและสนับสนุน การก่อตั้งพรรคแบบที่ไม่ได้ทำให้บรรลุถึงหลักการดังกล่าวข้างต้นก็ไม่ควรได้รับอนุญาต เนื่องจากจะขัดแย้งกับหลักการเรื่องความง่าย...

ในการใช้เสรีภาพทางศาสนาของเรานั้น จำเป็นต้องบอกไว้ด้วยว่า การทำตามศาสนบัญญัติดังที่กำหนดไว้ในหลักศาสนาต่างๆ ของเรานั้น เราควรช่วยกันสอดส่องเพื่อให้แน่ใจว่า ความแตกต่างด้านความคิดไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากสามารถถูกนำไปใช้บิดเบือนโดยศัตรูของยุคระเบียบใหม่และศัตรูของศาสนาเอง – คือพวกกากเดนไร้ศาสนาของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย – เพื่อทำให้เราหันมาต่อต้านกันเอง...

ในพัฒนาการของชีวิตทางการเมืองอันสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลนั้น กลุ่มอาชีพที่มีศักยภาพแท้จริงในการแสดงบทบาทนำในการปกป้องและค้ำยันหลักปัญจะศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 คือ กลุ่มกองทัพแห่งอินโดนีเซีย (ABRI)...

ขอบเขต/ระดับที่กองทัพอินโดนีเซียจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้นตั้งอยู่บนสิ่งต่างๆ หลายอย่าง กล่าวคือ อันตรายที่คุกคามความปกติของหลักปัญจะศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945 การคุกคามต่อความผาสุกของผู้คนและเอกภาพของชาติ และการคุกคามโดยตรงต่อรัฐ ไม่ว่าจะจากภายในหรือภายนอก กองทัพอินโดนีเซียไม่ได้เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ว่า นักวางแผนบางคนในอดีตได้ใช้กองกำลังบางหน่วยในกองทัพอินโดนีเซียเพื่อการต่อต้านลุกฮือและการบิดเบือนอื่นๆ จากหน้าที่ของตน แต่ประวัติศาสตร์ก็ยังบันทึกไว้ด้วยว่า การลุกฮือและการบิดเบือนเหล่านี้มักจะถูกปราบปรามลงโดยตัวกองทัพอินโดนีเซียเอง...

กองทัพอินโดนีเซียจะไม่และไม่สามารถกำหนด/บังคับใช้การปกครองแบบเผด็จการทหารได้ เนื่องจากสมาชิกของกองทัพอินโดนีเซียล้วนแต่ยึดถือคำปฏิญาณทหารและการสาบานตนว่าจะเป็นผู้พิทักษ์หลักปัญจะศีลและรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1945

บทบาทหลักของกองทัพอินโดนีเซียในปัจจุบันจึงไม่ใช่ผลจากความกระหายต่ออำนาจ ถ้ากองทัพอินโดนีเซียต้องการอำนาจจริงแล้วไซร้ พวกเขาก็สามารถยึดครองมันได้เมื่อมีโอกาส เช่นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1965 เมื่อกองทัพอินโดนีเซียใช้กองกำลังในการกวาดล้างการกบฏของขบวนการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียและฝ่ายสนับสนุนเมื่อวันที่ 30 กันยายน อันเป็นช่วงเวลาแห่งความโกลาหลวุ่นวายและเกิดช่องว่างในการบริหารของรัฐบาล....

มีการพูดกันถึง “การทำให้การบริหารรัฐกลายเป็นสีเขียว” อันเนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่ของกองทัพเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมของสังคมและของรัฐ แต่อย่าเพิ่งกระโดดไปยังข้อสรุปว่านั่นคือเผด็จการทหาร ขอให้มองไปยังสถาบันทางกฎหมายที่ตั้งอยู่เสียก่อน ตั้งคำถามเสียก่อนว่า แล้วสิทธิมนุษยชนกับสิทธิประชาธิปไตยได้รับการประกันโดยกฎหมายอันตั้งอยู่บนรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่าวัดการเป็นเผด็จการทหารโดยเพียงแค่นับจำนวนเสื้อของกองทัพอินโดนีเซีย

ถ้าในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ของกองทัพอินโดนีเซียได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำตำบล อันนั้นก็เพราะว่าพวกเขาได้รับเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎรผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยและสอดคล้องกับหลักกฎหมายที่เป็นอยู่ จึงชัดเจนว่าไม่ได้หมายความว่ากองทัพอินโดนีเซียหวังจะเข้าไปควบคุมในทุกตำแหน่งหน้าที่ สมาชิกของกองทัพอินโดนีเซียได้รับแต่งตั้งในสถาบันของรัฐบาลหลายแห่งเนื่องจากพวกเขามีหน้าที่พลเรือนจะต้องปฏิบัติและเนื่องจากพวกเขาจำเป็นจะต้องทำให้ความพยายามต่างๆ ของรัฐบาลสามารถบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ...

จึงค่อนข้างชัดเจนว่า ประเด็นเรื่องการทำให้เป็นรัฐทหารนั้นไม่ได้วางอยู่พื้นฐานที่เป็นจริง เพราะมันไม่จริง ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นประเด็นที่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากนำไปใช้ในการปฏิเสธบทบาทของกองทัพอินโดนีเซียในฐานะกลุ่มอาชีพ ดังที่ได้กระทำก่อนหน้านี้โดยพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม กองทัพอินโดนีเซียจะยังคงยอมรับคำวิจารณ์และคำเสนอแนะที่สร้างสรรค์และจริงใจอย่างเปิดหัวใจออกกว้าง ทั้งเพื่อประโยชน์ของกองทัพอินโดนีเซียเองและเพื่อประโยชน์โดยรวมของเราเอง

โดยสรุปและในฐานะสิ่งชี้นำสำหรับการนำประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลไปปฏิบัติ พวกเราหวังจะเน้นให้เห็นว่า ประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลจะยังคงเทิดทูนหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาธิปไตยของพลเมืองทุกคนไว้อย่างสูงส่ง โดยผู้ใช้สิทธิเหล่านี้จะต้องจงภักดีต่อความดีงามที่ยิ่งใหญ่กว่า คือความดีของสังคม ของประชาชน และของรัฐ มันคงจะเป็นอุดมคติได้เลยถ้าหากว่าในการนำหลักประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลไปปฏิบัตินั้น แต่ละคนยังสามารถสร้างดุลยภาพระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม ระหว่างผลประโยชน์ของกลุ่มกับของชาติ และระหว่างประชาชนกับรัฐ แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้น อันเป็นความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม หรือผลประโยชน์ของบางกลุ่มกับผลประโยชน์ของชาติ เราก็จะต้องสังเวยผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลหรือของกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของสังคมหรือชาติอย่างสมัครใจและไม่เห็นแก่ตนอย่างจริงใจ นี่คือหลักการและกฎของประชาธิปไตยแบบปัญจะศีลอันชอบธรรม และในทัศนะของเราแล้ว นี่คือเครื่องประกอบอันเหมาะสมที่สุดเพื่อให้บรรลุถึงการเป็นสังคมที่ยุติธรรมและมั่งคั่งโดยตั้งอยู่บนหลักปัญจะศีลทั้งในทางวัตถุและทางจิตวิญญาณ